ปลิงทะเลดีอย่างไร กรมประมงจึงต้องผลักดันเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย

0
1656
kinyupen

ปลิงทะเลเป็นสัตว์ที่มีผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinodermata) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก และเม่นทะเล ในขณะที่ปลิงน้ำจืดเป็นสัตว์ในกลุ่มหนอนปล้อง (Annelida) ได้แก่ ไส้เดือนดิน ทากดูดเลือด เป็นต้น แต่ปลิงทะเลไม่ดูดเลือดเหมือนปลิงน้ำจืด แต่กินเศษซากอินทรียสารเป็นอาหาร

 

แหล่งอาศัยของปลิงทะเลอยู่ในเขตแนวชายฝั่ง หากินอยู่บนพื้นท้องทะเล กระจายอยู่ทั่วไป แต่ก็สามารถที่จะปรับตัวให้มีชีวิตอยู่ได้ในแหล่งต่างๆ เช่น ในแนวปะการัง, หาดทราย, หาดหิน, แนวสาหร่าย และแหล่งหญ้าทะเล

 

สำหรับรูปทรงของปลิงทะเล ที่หลายคนอาจจะเคยเห็นแล้ว เพราะปัจจุบันมีให้เห็นตามร้านค้าต่างๆ มากมาย โดยส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกยาว ผิวลำตัวมีทั้งหนา บาง แล้วแต่ชนิด ปลายลำตัวด้านหนึ่งเป็นปากและอีกด้านหนึ่งเป็นทวาร รอบๆ ปากมีหนวด 10-30 เส้น ทำหน้าที่จับอาหารเข้าสู่ปาก โดยส่วนใหญ่ปลิงทะเล มักจะไม่เคลื่อนไหว แต่จะนอนนิ่งๆ อยู่กับที่ แต่ถ้าหากจะเคลื่อนที่ก็จะใช้ท่อ (tube feet) เป็นตัวขยับเดิน

 

 

ปลิงทะเลถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ระยอง เรียกปลิงดำ (มี 2 ชนิดคือ ปลิงดำตัวนิ่มและปลิงดำตัวแข็ง) ว่า “ตัวทาก” หรือ “ทากทะเล” เหตุเพราะ หน้าตาเหมือนตัวทากที่อยู่ในป่า หรือที่ จ.กระบี่ เรียกปลิงดำตัวนิ่มว่า “ดอเทศ” และเรียกปลิงดำตัวแข็งว่า “ดอไทย” เหตุเพราะ ปลิงดำตัวนิ่มมีขนาดใหญ่กว่าปลิงดำและตัวแข็ง

 

ปลิงทะเลมีหลายชนิด มีทั้งสีดำที่พบเห็นทั่วไป หรือแบบที่สวยงามก็มีเช่นกัน ซึ่งกลุ่มสวยงามจะถูกนำมาเลี้ยงในตู้ปลา เช่น กลุ่มที่มีหนวดแบบกิ่งไม้ เช่น ปลิงแอปเปิล ที่มีการนำมาเลี้ยงในตู้ปลาสวยงาม เช่น ปลิงหนวดกิ่งสีชมพู ปลิงหนวดกิ่งเขียว ปลิงส้ม เป็นต้น

 

สำหรับประโยชน์ทางการแพทย์นั้นมีการศึกษาวิจัยสกัดสารจากผนังลำตัวปลิงทะเล พบว่ามีสารโฮโลท็อกซิน (Holotoxin) ที่มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด และยังได้พัฒนาไปใช้ยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งด้วย นอกจากนี้เส้นใยสีขาวของปลิงทะเลบางชนิด ยังมีสารโฮโลทูริน (Holothurin) ที่มีคุณสมบัติในการขัดขวางการส่งความรู้สึกของกระแสประสาท จากคุณสมบัตินี้ได้นำมาใช้ในการบำบัดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด

 

ปลิงทะเลนับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศแถบตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สำหรับในประเทศไทยในปี ค.ศ.1996 การค้าปลิงทะเลทั่วโลกมีปริมาณ 6,558 ตัน คิดเป็นมูลค่า 58.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (Jaquemet & Conand, 1999) สำหรับในประเทศไทยพบการทำประมงปลิงทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกมาเป็นเวลานานแล้ว จากสถิติการประมงแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516-2532 พบว่า มีการทำประมงปลิงทะเลมากที่สุดในปี พ.ศ. 2521 ปริมาณ 226 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.27 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 44.35 ตัน (กรมประมง, 2525, 2534) แต่ในปัจจุบัน การค้าขายปลิงทะเลส่วนใหญ่จะอยู่จำกัดในพื้นที่ตลาดเยาวราช ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด

 

 

ปลิงทะเลเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านให้ความสนใจในการวิเคราะห์หาคุณค่าอาหารจากปลิงทะเล พบว่า ในเนื้อของปลิงทะเลอุดมไปด้วยสารอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มิวโคโปรตีน (mucoprotein) ” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกอ่อน เอ็น การบริโภคปลิงทะเลจึงสามารถบรรเทาปัญหาการเสื่อมสมรรถนะของข้อ กระดูก ในผู้สูงอายุได้ ปลิงทะเลมีโปรตีนใกล้เคียงกับหมึกกล้วย ปูม้า หอยแมลงภู่ และหอยลาย แต่มีไขมันต่ำที่ต่ำกว่ามาก ดังนั้น ปลิงทะเลจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคนที่ควบคุมไขมันได้เป็นอย่างดี

 

ล่าสุดกรมประมงได้ผลักดันโครงการเพาะเลี้ยงปลิงทะเลขยายผลสู่เกษตรกร พร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ควบคู่กันไป หวังส่งเสริมให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทย โดยศึกษาพัฒนาเทคนิคการอนุบาลลูกปลิงทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มอัตราการรอดและเพิ่มผลผลิตเพื่อนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และทดลองเลี้ยงในบ่อดินเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่

kinyupen