แบน สารฆ่าหญ้า ทำไมต้องรู้

0
370
kinyupen

ผักผลไม้ปลอดสารพิษเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงเพราะมีผลต่อสุขภาพและร่างกายของผู้คนมากขึ้นทุกวันอันดูได้จากสถิติของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการรับประทานสารเคมีสะสมหรือปนเปื้อน เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน หรือโรคผิวหนัง อีกประการที่สำคัญคือค่ารักษาพยาบาลที่แพงลิบลิ่วดังนั้นผู้คนในปัจจุบันจึงเลือกที่จะดูแลสุขภาพแต่ต้นทาง โดยการเลือกรับประทานอาหารที่สุขอนามัยก็เป็น 1 ในหัวใจสำคัญ

 

แต่แม้คนจะให้ความสำคัญเลือกซื้อหรือเน้นผักผลไม้ปลอดสารพิษ เลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าอยู่ในประเภทเกษตรอินทรีย์แต่สถิติผู้ป่วยจากสารเคมีโดยเฉพาะกลุ่มปราบศัตรูพืชก็ยังสูงอันดูได้จากสถิติสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ชี้ว่ารอบ 6 เดือนมีผู้ป่วยจากสารเคมีปราบศัตรูพืชมากกว่า 3,000 ราย (1 ต.ค. 2561 – 17 ก.ค. 2562)

 

ด้วยอันตรายสะสมทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงสั่งห้ามผลิตนำเข้า ส่งออก และครอบครองสารเคมีทางการเกษตรเพื่อกำจัดศัตรูพืช 5 รายการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา คือ 1.คลอร์ไพริฟอส 2.คลอร์ไพริฟอส-เมทิล 3.พาราควอต 4.พาราควอตไดคลอไรด์ 5.พาราควอตไดคลอไรด์ บิส เมทิลซัลเฟต

 

 

วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ชวนคุณทำความรู้จักกับ พาราควอตและเหตุผลที่ทำไมเราควรรู้ที่มาของการต้อง “แบน” สารดังกล่าว

 

พาราควอต เป็นชื่อของยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้ในพืชไร่ ด้วยเป็นยาเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง

แต่การฆ่าหญ้าแบบนี้ทำให้เกิดการตกค้างของพาราควอตต่อพืชผัก การศึกษาของนักวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างที่ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในเดือน ธ.ค.2560 ตรวจพบสารพาราควอตในผักที่ปลูกในท้องถิ่นทุกตัวอย่าง ได้แก่ พริกแดง กะเพรา คะน้า ชะอม

โดยการตรวจสารตกค้างของผัก ผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างค้าปลีกของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบสารพาราควอตในผักผลไม้ในระดับเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่าง

 

2 อันตราย ของพาราควอต

 

1. สุขภาพแย่

โดยทั่วไปผู้ได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว แสบตา น้ำตาไหล มองไม่ชัด รวมถึงอาจได้รับผลกระทบต่อระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเปลี้ย หายใจลำบาก และอาจถึงแก่ชีวิตขึ้นอยู่กับฤทธิ์ของสารเคมีและปริมาณที่ได้รับ แต่พาราควอตส่งผลหนักกว่านั้น.. การประเมินของนักวิจัยพบว่า ในหญิงตั้งครรภ์พาราควอตในร่างกายแม่ถูกส่งต่อถึงลูกในท้องเพราะตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิด

นอกจากนี้ งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พิสูจน์แล้วว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองส่วนกลางของสัตว์ทดลองได้ รวมถึงงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศชี้ว่า พาราควอตเพิ่มโอกาสการเป็นพาร์กินสันถึงมากกว่าร้อยละ 47

ทั้งนี้ผู้ที่รับยาฆ่าแมลงทั้งโดยตรง โดยอ้อม หรือ ไม่รู้ตัว จะสะสมสารพิษจนนำไปสู่โรคร้ายในระยะยาว เช่น โรคทางระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ กล้ามเนื้อ หัวใจ และมะเร็ง

 

2.ระบบนิเวศเสียหาย

ปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในน้ำและดิน เป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรัง ทั้งการลดลงของพืชคลุมดินบางชนิดและสัตว์ที่มีประโยชน์ รวมถึงปัญหาต่อสิ่งมีชีวิตในบริเวณใกล้เคียง เช่น นก ไส้เดือน ปลา ผึ้ง ขึ้นอยู่กับฤทธิ์ของสารเคมี และความสามารถในการตกค้าง เป็นต้น

ด้วยคุณสมบัติอันตรายของสารพาราควอตที่ล้างไม่ออก ต้มไม่หาย เพราะมีจุดเดือดที่ 300 องศาเซลเซียส จึงทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ มีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานพืชผักผลไม้

อาจถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้ยากำจัดศัตรูพืชต้องหันมาใช้สารอื่นทดแทนในแบบธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว สำหรับผู้บริโภคการหลีกเลี่ยงสารปนเปื้อนอาจเป็นไปได้ยาก แต่เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพชีวิต ก่อนจะบริโภคผักหรือผลไม้ทุกครั้ง ควรล้างให้สะอาดอย่างถูกวิธีก็ช่วยลดปริมาณสารเคมีลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

 

 

ทางเลือก ลดเสี่ยงยาฆ่าแมลงในผัก

  • 80-95% เบกกิ้งโซดาครึ่งช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น 10 ลิตร แช่ไว้ 15 นาที ค่อยล้างด้วยน้ำสะอาด
  • 54-63% เด็ดผักเป็นใบ ๆ แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมา 2 นาที
  • 35-43% ด่างทับทิม 20-30 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด
  • 29-38% แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 % ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด
kinyupen