ญี่ปุ่น เผชิญ “มลภาวะทางการท่องเที่ยว”

0
437
kinyupen
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอพาไปติดตามเรื่องราวของญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าไปเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งจากความสวยงามของวัฒนธรรม ประเพณี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนสภาพภูมิอากาศที่ “มีดีทุกฤดู” เลือกท่องเที่ยวได้ตลอดปี โดย ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ ธันวาคม-มีนาคม ต่อด้วยฤดูใบไม้ผลิ เมษายน-กรกฎาคม ฤดูร้อน สิงหาคม-กันยายน ฤดูใบไม้ร่วง ตุลาคม-พฤศจิกายน กลายเป็นแรงดึงดูด “นักท่องเที่ยว” ซึ่งญี่ปุ่นต้องรองรับเป็นจำนวนมาก

 

สถิติสำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น พบว่าปี 2560 ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติเข้าไปเที่ยวกว่า 28 ล้านคน โดยกว่าครึ่งเป็นชาวจีนและเกาหลีใต้ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากตะวันตกมีร้อยละ 10 ส่วนนักท่องเที่ยวไทย มีประมาณ 1 ล้านคน และคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 ญี่ปุ่นจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านคน

 

แต่ทราบไหมว่า…ยิ่งจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งสูงขึ้นเท่าใด ชาวญี่ปุ่นต้องปวดหัวมากขึ้นเท่านั้น!

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวเจแปนไทม์ รายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง จนกระทบต่อวิถีชีวิตคนท้องถิ่น โดยต้นเหตุปัญหามาจากวิธีกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ไม่สัมพันธ์กับสภาพและขนาดพื้นที่ ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งไม่สามารถบริหารจัดการนักท่องเที่ยวที่ล้นเกินนี้ได้ดีพอ จนสื่อญี่ปุ่นเรียกภาวะนี้ว่า “มลภาวะทางการท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่บรรดาเมืองเก่าขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยวในยุโรป อาทิ  เวนิส ฟลอเรนซ์ เกาะคาปรีในอิตาลี บาร์เซโลนาของสเปน  เกาะซานโตรินีของกรีซ กำลังประสบ

“นักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังล้นเมืองเกียวโตในแต่ละวัน แต่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบ แม้จะช่วยนำรายได้มายังท้องถิ่น  เห็นได้ชัดจาก การใช้รถสาธารณะของนักท่องเที่ยวที่ทำให้คนท้องถิ่นต้องแออัดยัดเยียด การส่งเสียงดัง การรับประทานอาหารตามข้างถนนของนักท่องเที่ยว เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่ถูกจองเต็มและไม่เพียงพอต่อนักท่องเที่ยว” มัสซารุ ทาคายามา ชาวเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นซีอีโอบริษัทท่องเที่ยวท้องถิ่น กล่าวระบายความรู้สึก

สิ่งที่เกิดขึ้นต้องมาติดตามกันต่อไปว่า ทางการญี่ปุ่นจะมีมาตรการจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการรักษาวิถีชุมชน แต่ไม่ว่าจะมาตรการใด สิ่งที่นักท่องเที่ยวควรพึงตระหนักนั่นคือ ควรศึกษากฎ ประเพณี วิถีปฏิบัติในท้องถิ่นนั้นๆ ให้เข้าใจก่อนเที่ยว เพื่อไม่เข้าไปทำผิดกฎ หรือ สร้างความวุ่นวายในที่นั้นๆ เหมือนเป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง เพราะปัจจุบันหลายเมืองท่องเที่ยวของไทย ก็เริ่มเจอปัญหาแบบเดียวกัน และ ปรากฏเสียงบ่นทางโซเชียลมีเดียเป็นระยะ

/////////////////////////////////////////////////////////////////

รู้ไหม…ทำแบบนี้ผิดกฎหมายในญี่ปุ่น
  1. แซงคิว เป็นความผิดลหุโทษ มาตรา 1 ข้อ 13 ในกฎหมายอาญาพิเศษว่าด้วยเรื่องระเบียบในสังคม มีโทษสูงสุด จำคุก 30 วัน หรือปรับ 1,000-10,000 เยน / บันทึกประวัติอาชญากรรม
  2. รับคำท้าที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต มีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี
  3. ถ่มน้ำลาย-เสลด ในที่สาธารณะ เป็นความผิดลหุโทษ มาตรา 1 ข้อ 26 ในกฎหมายอาญาพิเศษว่าด้วยเรื่องระเบียบในสังคม มีโทษสูงสุดจำคุก 30 วัน หรือปรับ 1,000-10,000 เยน / บันทึกประวัติอาชญากรรม
  4. รับเงินทอนเกินแล้วไม่คืน เข้าข่ายหลอกลวง ต้มตุ๋น
  5. เมาแล้วปั่นจักรยาน ผิด พ.ร.บ. จราจร มาตรา 65 ข้อ 1 มีโทษจำคุกต่ำกว่า 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1,000,000 เยน / ซ้อนท้ายจักรยาน

 

และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

 

/////////////////////////////////////////////////////////////////

ขอบคุณ

ข้อมูลอ้างอิง :  news.thaipbs.or.th

kinyupen