One Day Trip I เที่ยวไหว้พระนอน “อ่างทอง – สิงห์บุรี” เสริมมงคลสำหรับคนเกิดวันอังคาร

0
686
kinyupen

#ใครเกิดวันอังคารยกมือขึ้น วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีทริปท่องเที่ยว – ไหว้พระนอน หรือ ปางไสยาสน์ เสริมสิริมงคลแบบวันเดียวก็เที่ยวได้ใกล้ๆ กทม. มาฝากกัน โดยเส้นทางที่แนะนำ คือ เส้นทางไหว้ 3 พระนอนสำคัญจังหวัด “อ่างทอง – สิงห์บุรี” ซึ่งรวมคุณค่าทั้งเชิงความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน

 

แต่ก่อนอื่นมาทราบกันก่อนดีกว่าว่าเหตุใดพระนอน หรือ ปางไสยาสน์ จึงเป็นพระประจำวันเกิดคนวันอังคาร

 

ย้อนไปสมัยพุทธกาล ตามพุทธประวัติกล่าวกันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับสีหไสยาสน์ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันอังคาร จึงได้ถือเอา “พระพุทธไสยาสน์” เป็นพระประจำวันอังคาร

ขณะที่คนสมัยโบราณมีความเชื่อว่า “คนวันอังคาร เป็นคนใจร้อน ให้นอนเสียบ้าง จะได้ใจเย็น…เหมือนดังพระนอนนั่นเอง” ดังนั้นหากผู้ที่เกิดวันอังคารได้มีโอกาสกราบสักการะขอพรจะช่วยเสริมสิริมงคลให้ชีวิต

 

ปักหมุดจุด 1 “วัดป่าโมกวรวิหาร อ่างทอง”

วัดแรกที่แนะนำให้เข้าสักการะ คือ “วัดป่าโมกวรวิหาร” เริ่มสตาร์ทจากกรุงเทพโดยใช้เส้นทางสายพหลโยธินโดยวิ่งเรื่อยๆ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 (สายอ่างทอง-อยุธยา) กิโลเมตรที่ 40 แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 329 จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 3501 จะเห็นป้ายทางไปวัดป่าโมก รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงนิดๆ รวมระยะทาง 100 กิโลเมตรหน่อยๆ

 

วัดป่าโมกวรวิหาร ปัจจุบันเป็นวัดหลวงชั้นวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เลยตลาดป่าโมกประมาณ 2 กิโลเมตร โดยเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมทีเป็นวัดสองวัดที่ตั้งอยู่ติดกัน คือ วัดชีปะขาว และวัดตลาด

 

แต่มีเหตุทำให้ต้องรวมเป็นวัดเดียวกันเนื่องจากกระแสน้ำเซาะเข้ามาใกล้พระวิหารเมื่อเรื่องรู้ถึง “พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ” จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงครามจัดการชะลอลากให้ห่างจากแม่น้ำเดิมเพื่อพ้นกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง และนำองค์พระไปไว้ยังวิหารใหม่ที่วัดตลาด ห่างฝั่งแม่น้ำ 168 เมตร แล้วโปรดให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พร้อมพระราชทานนามว่า “วัดป่าโมก” เพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกมากมาย

รวมทั้งโปรดให้สร้างวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานองค์พระ แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อนสร้างเสร็จ การฉลองวิหารหลวงที่ประดิษฐานองค์พระพุทธไสยาสน์ จึงจัดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแทน

 

 

สถาปัตยกรรมสำคัญ คือ “พระวิหารพระพุทธไสยาสน์” เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลาย มีรูปทรงหลังคาเป็นฐานวิหารอ่อนโค้งรูปสำเภาไม่สูงมากนักเป็นหลังคาลด 2 ชั้น ต่อด้วยปีกนกด้านละ 2 แถบ มี 9 ห้อง เจาะช่องหน้าต่างด้านละ 7 บาน ทางเข้าประตูเขียนลายรดน้ำลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ก้านแย่งยอด

 

 

ภายในวิหารเป็นที่ประทับของ “พระพุทธไสยาสน์ที่ถือว่างดงามมากองค์หนึ่งของเมืองไทย” สันนิษฐานว่าถูกสร้างในสมัยสุโขทัย องค์พระก่ออิฐปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ ตะแคงขวาแบบสีหไสยา มีความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) รูปทรงกระบอก 3 ใบ ลดหลั่นใหญ่ขึ้นไปหาเล็กแล้วคลุมด้วยผ้าทิพย์

 

 

มีประวัติเล่าขานกันว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด ราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ

 

 

ขณะที่พระราชพงศาวดารระบุว่า ก่อนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปรบกับพระมหาอุปราช ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการบูชาพระพุทธรูปองค์นี้

องค์พระพุทธไสยาสน์ ยังมีตำนานเล่าขานว่าเป็น พระพุทธรูปพูดได้ ซึ่งบอกเล่าตำรายาช่วยรักษาชาวบ้านให้หายป่วยจากอหิวาตกโรคในอดีต โดยผู้บันทึกก็คือ พระครูปาโมกข์มุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าโมก นั่นเอง

 

องค์พระพุทธไสยาสน์จำลองหน้าวิหาร

 

นอกจากพระพุทธไสยาสน์ วัดนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลายแห่ง อาทิ วิหารเขียน สถาปัตยกรรมทรงไทย มีขนาด 7 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น ใต้หน้าบันด้านหน้าปิดผนังทึบมีเสาแบนหรือเสาอิง 2 ตัน มีหลังคาคลุมลดลงมารองรับด้วยเสา 4 ต้น ที่เรียกว่า “จั่นหับ” ผนังรอบวิหารมีเสาอิงประดับระหว่างประตูหน้าต่าง บัวหัวเสาเป็นบัวจงกลปูนปั้น สันนิษฐานว่าเดิมเป็นตำหนักที่ประทับของพระเจ้าท้ายสระในคราวเสด็จชะลอพระพุทธไสยาสน์

และยังมี มณฑปพระพุทธบาท 4 รอย หอไตร อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ รวมถึงศาลเจ้าแม่ตะเคียน ให้ผู้สนใจได้สักการะขอพร

 

ปักหมุดจุด 2 “วัดขุนอินทประมูล อ่างทอง”

จุดหมายที่ 2 ของเราคือ วัดขุนอินทประมูล โดยเรามุ่งหน้าจากวัดป่าโมกไปยังบนถนนหมายเลข 3501 มุ่งหน้าตำบลศาลาแดง ก่อนเข้าถนน 3027 มุ่งตำบลขุนอินทประมูล สังเกตป้ายบอกทางไปวัดขุนอินทประมูลตามเส้นทาง ใช้เวลาประมาณ 35 นาทีก็ถึงที่หมาย

 

 

วัดขุนอินทประมูล หรือ ที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดขุนอิน ตั้งอยู่ตำบลอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง สันนิษฐานจากซากแนวอิฐเดิมที่หลงเหลืออยู่ว่าเป็นวัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย จุดเด่นสำคัญวัดแห่งนี้คือ เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอน ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ” โดยเป็นองค์พระก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ความยาว 50 เมตร (25 วา) สูง 11 เมตร (5 วา 2 ศอก) หันพระพักตร์ทางทิศเหนือ ชาวบ้านเรียกว่า “พระศรีเมืองทอง” ทั้งนี้ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่าองค์พระนอนแห่งนี้ถือเป็นพระนอนกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เหตุที่วัดแห่งนี้ชื่อ “วัดขุนอินทประมูล” ตามประวัติเล่ากันว่า ขุนอินทประมูลท่านเป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดขุนอินทประมูล”

วัดแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้ที่เดินทางมาจังหวัดอ่างทอง เพื่อเข้ามากราบไหว้สักการะเสริมสิริมงคลให้กับตนเอง โดยเมื่อเดินทางเข้าในเขตวัดก็จะเห็นองค์พระนอนที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็น ประทับโดดเด่นอยู่บนแท่นขนาดใหญ่ โดดเด่นอยู่แต่ไกล

ทั้งนี้ เดิมองค์พระประดิษฐานอยู่ในวิหาร หากเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 วัดนี้ถูกไฟไหม้จนพังทลายกลายเป็นวัดร้างทำให้องค์พระตากแดดตากฝนอยู่กลางแจ้งประมาณ 100 ปี จนสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงมีการบูรณะขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

วิหารหลวงพ่อขาว

 

ภายในบริเวณวัดขุนอินทประมูล ยังมีซากโบราณสถาน “วิหารหลวงพ่อขาว” ที่เหลือเพียงฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป ขณะเดียวกันในอเนกประสงค์มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ถูกขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ.2541 ในลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูล แต่บ้างก็ว่าไม่ใช่

องค์พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล มีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี จึงมีการสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน

 

ปักหมุดจุด 3 “วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร สิงห์บุรี”

จุดหมายที่ 3 ของเราคือ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร วัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวสิงห์บุรี โดยเรามุ่งหน้าออกจากวัดขุนอินและเลือกวิ่งบนเส้นทางอยุธยา-อ่างทอง ขับไปทางถนน ทางหลวงชนบท สิงห์บุรี 3064 มุ่งไปตำบลจักรสีห์ ไม่เกิน 40 นาที ก็จะถึงที่หมาย

พระพุทธรูปไสยาสน์ที่วัดแห่งนี้ถือพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาวที่สุดองค์หนึ่งของไทย โดยสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี องค์พระเป็นปางโปรดอสุรินทราหู หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว โดยพระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก พระกรขวายื่นไปด้านหน้า ไม่งอพระกรขึ้นรับพระเศียรเหมือนแบบไทย

 

วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร สิงห์บุรี

 

ทั้งนี้ มีตำนานการสร้างองค์พระที่เล่าเป็นนิทานปรัมปราสืบกันมาว่า “สิงหพาหุ” มีพ่อเป็นสิงห์ พอรู้ความจริงคิดอายเพื่อนว่ามีพ่อเป็นสัตว์เดรัจฉานจึงฆ่าสิงห์ผู้เป็นพ่อตาย ภายหลังรู้สึกตัวกลัวบาปและเสียใจเป็นอย่างมากจึงสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นการไถ่บาป โดยนำทองคำแท่งโต 3 กำมือ ยาว 3 เส้น ทำเป็นแกนขององค์พระ ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชามาหลายชั่วอายุคนจนองค์หลวงพ่อพระนอนได้พังทลายลงเป็นเนินดิน

กาลต่อมา ท้าวอู่ทอง นำพ่อค้าเกวียนผ่านมาพบแกนทองคำฝังอยู่ในเนินดิน และทราบเรื่องเล่าของสิงหพาหุ เกิดความเลื่อมใสจึงชักชวนพ่อค้าเกวียนก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นด้วยใช้แท่งทองคำที่พบนั้นเป็นแกนองค์พระ

กาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เสด็จมานมัสการและซ่อมแซมองค์พระ พร้อมทั้งได้สร้างพระวิหารครอบองค์พระ สร้างพระอุโบสถและเสนาสนะต่างๆ ขึ้นมาใหม่ โดยเมื่อสร้างเสร็จได้ก็มีการจัดงานฉลองอย่างเอิกเกริก

 

บริเวณภายในวิหารที่ประทับขององค์พระนอนรวบรวมพระพุทธรูปโบราณ ตลอดจนโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น เครื่องสังคโลก เหรียญ ตู้ไม้แกะสลัก ตู้ประดับมุกฯลฯ ไว้ ให้ผู้สนใจได้เดินชม

 

บริเวณด้านหน้าวิหาร

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้เสด็จไปทรงนมัสการ ซึ่งขณะนั้น พระวิหารและองค์พระนอนชำรุดทรุดโทรมมากขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์มานาน พระธรรมไตรโลก (อ้น) วัดสุทัศน์ ได้ทูลขอพระราชทานเงินค่านาที่ขึ้นกับวัดและค่านาเมืองสิงห์บุรีมาเป็นค่าปฏิสังขรณ์ ซึ่งพระองค์ก็ได้มอบถวายให้ และโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราศปรปักษ์เป็นที่ปรึกษา ก่อนที่การปฏิสังขรณ์สำเร็จในปี พ.ศ. 2428 และกลายมาเป็นปูชนียวัตถุที่ทรงคุณค่าและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมถึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี และผู้ที่มีจิตศรัทธาทั่วประเทศที่เข้ามานมัสการไม่ขาดสาย โดยมีความเชื่อว่าหากมาขอพรให้ท่านช่วย เมื่อสำเร็จก็พากันมาแก้บน โดยของที่นิยมมาแก้บน อาทิ ไข่ต้ม หัวหมู บายศรี เป็นต้น

 

คาถาสวดบูชาสำหรับคนเกิดวันอังคาร

ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิก เขปิ ปาณิ โน ปะติฏิฐะมะธิ คัจฉันติ ภูมิยัง

วิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิ สัมภะวา คะณะนานะ

จะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภะณามะ เห

kinyupen