เรื่องดีๆ ด้วย “เทคโนโลยี” ช่วง Social Distancing

0
466
kinyupen

สถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้คนทั่วโลกต้องคำนึงถึงระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น หลายประเทศนำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้เพื่อหาทางระงับเหตุอย่างจริงจัง ส่งผลองค์กรธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน แม้กระทั่งวงการแพทย์ บันเทิง กีฬาล้วนได้รับผลกระทบกันทั้งสิ้น

 

แต่ยังพอมีโชคอยู่บ้างที่ยุคนี้เรายังมี “เทคโนโลยี” เป็นโซ่ข้อกลางประสานให้คนแต่ละทุกวงการยังสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้ไม่ 100% แต่ก็ยังดีกว่าหยุดชะงักไปเลย และวันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ก็ขอรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดีๆ ที่เกิดขึ้นว่าในช่วงวิกฤตวงการไหน ใครทำอะไรมาให้ท่านได้ทราบกัน

 

1.ภาคธุรกิจ หลายบริษัทเริ่มหันมาใช้การทำงานรูปแบบ Work from Home และรวมถึงใช้วิธีพบปะเผชิญหน้าให้น้อยลง ซึ่งแอพพลิเคชั่นน่าสนใจและได้รับความนิยมในสถานการณ์นี้ได้แก่

  • Zoom แอพพลิเคชั่นประชุมทางไกลที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 200 ล้านคนต่อวัน (ข้อมูล ณ มีนาคม 2563) แต่หลังถูกพบว่ามีการรั่วไหลของข้อมูลในบัญชีผู้ใช้ จนมีหลายหน่วยงานทั่วโลกออกมาประกาศห้ามบุคลากรใช้แอพฯ นี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามล่าสุด Zoom ประกาศเตรียมยกระดับความปลอดภัยของแอพพลิเคชันให้มากยิ่งขึ้น โดยประกาศอัปเดตเวอร์ชัน 5 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • Microsoft Teams แอพพลิเคชั่นที่ทำได้ทั้งส่งข้อความ โทร ส่งไฟล์ ประชุมผ่านระบบ VDO Call ซึ่งเป็นผู้ช่วยทำให้พนักงานทำงานได้สะดวกมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ 100 อันดับแรกของสหรัฐอเมริกา เลือกใช้ Microsoft Teams ไปแล้วกว่า 91 บริษัท

 

2. วงการแพทย์ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสู้กับโควิด-19 อย่างจริงจัง ทั้งบางส่วนก็ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจชั้นนำระดับโลกอีกด้วย

อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีน เปิดตัวระบบรหัส QR สุขภาพที่จะสัมพันธ์กับขอบเขตการเดินทางท่องเที่ยวและติดต่อพบปะกับผู้อื่น โดยกำหนดรหัสสีให้กับประชาชนเพื่อวัดระดับความเสี่ยง ดังนี้

  • รหัสสีเขียว เดินทางได้อย่างอิสระ
  • สีเหลืองต้องกักตัว 7 วัน
  • สีแดงคือต้องกักตัว 14 วัน

ระบบนี้มีการเปิดใช้ครั้งแรกในมณฑลเจ้อเจียง มณฑลเสฉวน ไหหลำ และฉงชิ่ง มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 200 ล้านคนแล้ว ถึงแม้ว่าระบบจะยังไม่เสถียรก็ตาม

แอปเปิ้ล และ กูเกิ้ล  สองยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีโลก ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการเพิ่มระบบ API (ฟังก์ชันเชื่อมต่อกับโปรแกรมอื่นๆ) บนแอนดรอยด์ และ iOS  เพื่อให้แอพฯ ติดตามกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ที่หน่วยงานรัฐต่างๆ กำลังพัฒนาออกมา เพื่อสามารถทำงานได้เต็มที่บนทั้งสองแพลตฟอร์ม  โดยระบบ API ดังกล่าวชื่อว่า Contact Tracing Bluetooh Specification และหากพบว่าใครในเครือข่ายเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ระบบจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าของมือถือทันที อย่างไรก็ตามระบบยังอยู่ระหว่างทดสอบในอาสาสมัครเท่านั้น

โรงพยาบาลอาร์มิเดล รัฐนิวเซาท์เวลล์ ออสเตรเลีย เริ่มทดลอง “โรงพยาบาลเสมือนจริง” โดยให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน โดยใช้ “อุปกรณ์ติดตามที่มีปัญญาประดิษฐ์ (AI) คอยเฝ้าระวังอาการและรายงานสัญญาณชีพ” เพื่อให้ทีมแพทย์สามารถติดตามอาการผู้ป่วยได้จากระยะไกล และแจ้งให้กลับมารักษาที่โรงพยาบาลหากอาการแย่ลง ซึ่งถ้าการทดลองนี้สำเร็จโมเดลนี้อาจถูกนำไปใช้งานทั่วออสเตรเลีย

 

3. วงการบันเทิง แม้ถูกกักตัวแต่คนในวงการยังคงออกมาครีเอทความบันเทิงผ่านแอพฯ ต่างๆ สร้างความหฤหรรย์ เฮฮาอยู่เสมอ ถ้าในไทย Tik Tok น่าจะมาแรงแซงโค้งกว่าทุกแอพฯ ที่นี้มาดูกันว่าที่อื่นเค้าทำอะไรกัน

คริส มาร์ติน แห่งวง Coldplay กล่าวว่า “ดนตรีเหมือนเครื่องช่วยบำบัดให้มนุษย์เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ช่วยส่งพลังบวกให้กับทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงาน และผู้ฟัง” ด้วยเหตุนี้ เขาจึงจำลองโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Instagram Live หรือ Twitter ให้เป็นเวทีคอนเสิร์เพื่อให้กำลังใจทุกๆ คน รวมถึงตัวเขาเอง

นอกจากนี้ ด้วยข้อดีสำคัญของแอพพลิเคชั่น Zoom คือการ join พร้อมกันได้ทีละหลายๆ คน จึงช่วยให้เหล่าศิลปินรวมตัวกันพัฒนา MV ให้เรารับชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิ

ดูอา ลิปา ศิลปินสาวตาคมชาวอังกฤษ เชื้อสายอัลเบเนีย ใช้ช่วงเวลาของการกักตัวมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในตอนพิเศษรายการ The Late Late Show ที่ใช้ชื่อว่า Home Fest โดยเธอเอาเพลง Don’t Start Now มาโชว์แบบไลฟ์สดในห้องพัก พร้อมวีดีโอคอลผ่านชวนเพื่อนสมาชิกวงแบ็คอัพ, นักร้องคอรัส, แดนเซอร์ มาร่วมสนุกในโชว์นี้พร้อมกันอีกด้วย จะเห็นได้เลยว่าเป๊ะทั้งทีมจนถูกแชร์ต่อจนเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์

 

 

ขณะที่ จิมมี่ แฟลลอน นักแสดงและพิธีกรชื่อดังก็ชวนวง The Roots มาร่วม Cover เพลง  “Stuck in the Middle with You” จากบ้านของพวกเขาแต่ละคนผ่าน Zoom หรือ จอห์น คราซินสกี้ หนึ่งในนักแสดงละครเพลงบรอดเวย์ ที่หันมาร้องเพลงในสื่อโซเชียลมากขึ้น

 

 

รวมถึงไทย Zoom ก็ถูกใช้เป็นช่องทางของ ละครเวทีทึนทึก ตอนทางไกล A New Short Play ละครเวทีเฉพาะกิจในรูปแบบ Tele Theatre ซึ่งกระบวนการทำงานเป็นทางไกลทั้งหมด โดยการทำงานต่างๆ ใช้โปรแกรม Zoom เป็นหลัก ทั้งในการซ้อมและบันทึกภาพไว้ในระหว่างที่แสดง โดยทีมงานมีเพียงนักแสดง ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ ที่ต่างคนต่างทำงานจากบ้านของตัวเอง

วงการบันเทิงจีนเองก็ปรับตัว โดยมีรูปแบบรายการแนวใหม่เอาใจคนกักตัวที่บ้านที่ใช้วิธีบันทึกรายการเเบบ Cloud Recording โดยศิลปินต่างๆ จะใช้วิธีสร้างโชว์จากที่บ้านและบันทึกผ่านสมาร์ทโฟน หรือ โน๊ตบุค เช่น ทอล์กโชว์ยอดนิยมอย่าง Day Day Up ก็ปรับปรุงรูปแบบให้เป็นการประชุมวิดีโอกับแขกรับเชิญแทนการมาบันทึกวิดีโอพร้อมกันในสตูดิโอ

 

4. วงการกีฬา Zoom ถูกผนวกใช้กับการฝึกซ้อมของสโมสรฟุตบอลระดับโลก อาทิ บาเยิร์น มิวนิค ทีมชั้นนำแห่งเยอรมนี ลิเวอร์พูล ทีมดังจากเกาะอังกฤษ เพื่อแก้โจทย์ที่ว่าจะซ้อมในช่วง Social Distancing ให้มีประสิทธิภาพที่สุดได้อย่างไร เพราะแม้ไม่มีการแข่งขันแต่สภาพร่างกายยังคงต้องพร้อมอยู่เสมอนี่คือเรื่องสำคัญของนักกีฬา

 

 

วิธีการนักเตะและทีมสตาฟฟ์ต้องรวมกลุ่มกันทุกวัน เพื่อฝึกซ้อมตามคำแนะนำในยิมที่บ้านของตัวเองโดยแสดงตัวผ่านสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ททีวี โดยทีมจะแจกจ่ายเครื่องมือติดตามผลตให้ทุกคนเพื่อตรวจเช็กว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง ซ้อมเต็มที่ไหม ไขมันเพิ่มขึ้นหรือเปล่า โดยมีเกณฑ์ของแต่ละคนอยู่ บ้านใครขาดอุปกรณ์ออกกำลังกาย สโมสรก็จะจัดส่งให้ถึงบ้านเลย

การฝึกซ้อมรูปแบบนี้นอกจากช่วยด้านสภาพร่างกายแล้ว ยังช่วยกระชับสัมพันธ์ของทีมให้กลมเกลียวในช่วงที่แต่ละคนต้องห่างหายไปอีกด้วย ดังที่เราจะเห็นการแซว หยอกล้อ  กิจกรรมสนุกๆ อาทิ การให้ลูกทีมแต่ละชาติอวยพรวันเกิดเพื่อนตามภาษาท้องถิ่นของตนที่ปรากฎเรียกเสียงหัวเราะอยู่บนโลกออนไลน์

 

ดินเนอร์ออนไลน์

ทีมงานคุณภาพจากเทศการดนตรีและศิลปะ Wonderfruit เปิดตัว Virtual Chef’s Table Fruitfull แบรนด์ใหม่ล่าสุดซึ่งเดิมทีวางแผนไว้ว่าจะจัดขึ้นในรูปแบบของ Mini Festival ขนาด 1-2 วันเพื่อสื่อสารเรื่องราวของอาหารในแง่มุมของความยั่งยืน (Sustainability) แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ออฟไลน์อีเวนต์เกิดขึ้นได้ยาก

ทีมงานจึงคิดวิธีนำเสนอใหม่ทั้งหมดกลายเป็น Virtual Chef’s Table ที่ให้ชื่อซีรีส์แรกว่า Lockdown โดยมีขั้นตอนมีดังนี้ 1.จองที่นั่งออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Fruitfull.co และระบุที่อยู่จัดส่งอาหารให้เรียบร้อย 2.เมื่อถึงวันอาหารจากเชฟจะไปส่งถึงบ้าน พร้อมลิงก์ให้เปิดเข้าไปในไลฟ์สตรีม และเริ่มทานอาหารพร้อมกัน ส่วนหนึ่งของรายได้จากการจองดินเนอร์ ยังนำไปสมทบทุนให้กับองค์กรการกุศล Covid Relief เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อีกด้วย

 

กักตัวแต่กักความรักไม่ได้…มงคลสมรสออนไลน์จึงเป็นทางออก

วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ทำให้งานอีเวนต์ทั่วโลกมีอันต้องยกเลิกไป แต่ยังทำให้งานแต่งงานของบ่าวสาวทั่วโลกต้องถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ล่าสุด“แอนดรูว์ คัวโม” ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กได้ออกมาประกาศว่าอนุญาตให้พลเมืองของรัฐจดทะเบียนสมรส และจัดพิธีแต่งงานผ่านการประชุมทางไกลหรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ พร้อมกล่าวติดตลกว่า “ต่อจากนี้คู่รักชาวนิวยอร์กสามารถทำพิธีมงคลสมรสผ่าน Zoom ได้แล้ว”

kinyupen