Better Farms ,Better Lives วิถีใหม่ด้านการเกษตร

0
360
kinyupen

ชาวนาไทยปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศและทั่วโลก แต่ทำไมจนกรอบ แถมเป็นสารพัดโรค เป็นคำถามคาใจที่สะสมมาหลายชั่วคน และแก้ไม่ตก การละเลยปล่อยให้ปัญหาคงอยู่สะสมต่อไป แปลงนาข้าวอาจเหลืออยู่ให้ลูกหลานดูแต่ในพิพิธภัณฑ์

 

มาวันนี้เมื่อองค์ความรู้ไปถึงชาวนาผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ชาวนาได้เห็นโลกกว้าง เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาช่วยลดต้นทุน เสียงเรียกร้องที่อยากจะปลดแอกตัวเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่จนกรอบ และปลอดโรคด้วยก็เริ่มดัง ขณะที่ผู้บริโภคข้าว ก็มีเสียงสะท้อนกลับมายังผู้ผลิต “อยากกินข้าวปลอดภัย”

เมื่อปัจจัยมาบรรจบ การปฏิรูปการทำนาครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้น ภายใต้โครงการ Better Farms ,Better Lives โตโผ้ใหญ่ คือ มูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย

 

 

อนันต์ ภู่สิทธิกุล ประธานมูลนิธิฯ ระบุว่า คอนเซปต์ของโครงการนี้ มุ่งเน้นทำอย่างไรให้แปลงนาข้าวเป็นแปลงนาที่ปลอดภัยทั้งผู้ปลูก และผู้บริโภค และทำให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดี เป้าหมายจะขับเคลื่อนชาวนาให้ได้ 50,000 คน ใน 25 จังหวัด หรือราว 150 ชุมชน โดยดึงทุกภาคีเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมมือ

 

โครงการนี้คิกออฟ ที่ชุมชนเกษตรสามบัณฑิต ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านการทำกิจกรรมสถานีการเรียนรู้ใน 4 ฐาน 4 เรื่อง อันได้แก่

  1. สถานีด้านความปลอดภัย
  2. สถานีนวัตกรรมข้าว อาทิ ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ การแปรรูปข้าว นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร นวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน)
  3. สถานีการฟื้นฟู และสร้างความเข้มแข็งในถิ่นฐานชุมชน และ
  4. สถานีการสร้างเงินออม

มีนวัตกรรม 3 คิด 4 รู้ เป็นภูมิปัญญาทางบัญชี มาบอกเล่าให้เกษตรกรรับฟัง รวมถึงนวัตกรรมแหล่งทุนธ.ก.ส.

 

โดยวันนั้นมีทุกภาคส่วนมาร่วมให้ความรู้เกษตรกร อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงบริษัทเอกชน อาทิ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด เป็นต้น โดยมีเกษตรกรให้ความสนใจสถานีการเรียนรู้ต่างๆ จำนวนไม่น้อย

 

 

ไฮไลท์ของงานที่กระตุ้นต่อมความสนใจของเกษตรกรอย่างมาก อยู่ที่สถานีให้ความรู้ โดรนเพื่อการเกษตร เป็นโดรนสำหรับการใส่ปุ๋ย และยาปราบวัชพืช ในนาข้าว ฆาแวน คำดี ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเขานม จังหวัดราชบุรี เจ้าของโดรนเพื่อการเกษตรที่นำมาให้ความรู้เกษตรกรในวันนั้น นอกจากทำนาแล้ว ยังเป็นเจ้าของกิจการให้บริการโดรน บอกว่าการใช้โดรนเพื่อการเกษตร เป็นนวัตกรรมที่กำลังฮิตมากในหมู่ชาวนาหลายพื้นที่ และกำลังขยายตัว เพราะตอบโจทย์ เนื่องจากการใช้โดรนเพื่อพ่นยาปราบวัชพืช คิดค่าบริการไร่ละ 60-80 บาท1 ชม.พ่นได้ 25 ไร่ หากใช้แรงงานคน อาจต้องใช้เวลาทั้งวัน แถมแรงงานที่จะมาทำก็หายากขึ้นทุกวัน เทียบกันแล้วค่าแรงคนกับการใช้โดรนเท่ากัน แถมมีความปลอดภัยไม่ต้องให้คนไปสัมผัสสารเคมี

 

 

นอกจากโดรนแล้ว การบริหารต้นทุนในเรื่องอื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญต่อแปลงปลูกข้าว และชีวิตของชาวนา มีการดึงชาวนาอย่างพี่ต่าย ธนภรณ์ หงษ์ทอง มาเป็นโมเดลให้เกษตรกรดูเป็นตัวอย่าง เพราะการเรียนรู้ ทำให้พี่ต่ายให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม เป็นประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่อำเภอวังน้อย และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด ลูกค้าธ.ก.ส. และไม่ปฏิเสธนวัตกรรมใหม่ๆ

 

เธอบอกว่า ตอนนี้ทำเกษตรผู้หญิง หรือผู้ชายทำนา ไม่ต่างกันเลย เพราะสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้การทำนาประสบผลสำเร็จ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเราได้จริงๆ ในระยะยาว คือ การบริหารจัดการแปลงนาของเรา คุมต้นทุนตั้งแต่การหว่านเมล็ดพันธุ์ การใช้โดรนพ่นยาคลุมวัชพืช และเลือกพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ ผลิตออกมาแล้วมีคนบริโภค

 

“พี่มีนา 12 ไร่ เลือกปลูกพันธุ์ข้าวกข.43 น้ำตาลต่ำมาหลายปี เพราะช่วยควบคุมน้ำตาล เรียกว่าเป็นข้าวสุขภาพ ทำให้ความนิยมมากขึ้นตามลำดับ และพี่คุมต้นทุนด้วย โดยเวลาหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ก็ไม่ใช้เยอะเกินไป ราว 1520 กิโลกรัมต่อ1 ไร่ จากก่อนหน้านี้ใช้ถึง 25 กิโลกรัม เมื่อใช้เมล็ดน้อยต้นทุนก็ไม่สูง แถมข้าวในนาของเราไม่หนาแน่นเกินไป พอมีช่องหายใจ ก็ช่วยป้องกันศัตรูข้าวด้วย พอเป็นข้าวสุขภาพ เราคุมต้นทุนด้วย ราคาที่ขายได้ 5 กิโลกรัม 200 บาท หรือ 1 กิโลกรัม 50 บาท ก็มีคนซื้อ เราก็อยู่ได้”

 

 

สำหรับสูตรการปลูกข้าวให้ประสบผลสำเร็จ พี่ต่าย มีสูตรเฉพาะที่เกิดจากการสะสมความรู้ และการลองผิดลองถูกมาหลายปี แปลงนาของ พี่ต่าย มีทั้งใส่ปุ๋ยหมัก ฮอร์โมนชีวภาพจากเปลือกกุ้ง เปลือกหอยและใส่ปุ๋ยเคมีด้วย รวมถึงฉีดยาคลุมวัชพืชผสมผสานกัน ช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมี และปลอดภัย คนรู้ว่าเราทำนาอย่างไร ไม่อัดปุ๋ยเคมีจนเยอะเกิน ข้าวของเราก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค และบอกต่อๆ กัน

 

ทางด้านงานรณรงค์ให้เกษตรกรคุมต้นทุน และหาองค์ความรู้ เพื่อใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย พี่ต่าย้องบอกว่า “ความเคยชิน ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนยาก ทำได้ คือทำนาของเราให้ดี เพื่อเป็นต้นแบบให้แปลงอื่นเห็นว่าเราทำอย่างไร ให้การทำนาเป็นอาชีพที่เลี้ยงเราและครอบครัวได้”

 

 

ทางด้านกำนันสุทธินาท คงสมทอ ประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลสามบัณฑิต ระบุว่า ปัญหาของเกษตรกรจำนวนไม่น้อย คือขาดความเข้าใจในการใส่สารเคมีในนาข้าวทั้งปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชว่าใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ทำให้ใช้อย่างผิดวิธี เรียกง่ายๆ ว่าใช้มากเกินไป หรือหว่านเมล็ดข้าวมากเกินไป เพราะความกลัวศัตรูพืชจะมากินไม่เหลือหากหว่านน้อยเกินไป จะมาใช้นวัตกรรมใหม่ เช่น โดรน ก็ไม่ง่าย เพราะความกลัวเป็นเหตุ กลัวว่าต้นทุนจะสูง

 

“อาจจะจริงที่มีองค์ความรู้มาให้ชาวนาถึงที่หลายๆ เวที แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับรู้ เขามักทำไปตามวิถีที่เคยทำมา และยังไม่ตระหนักถึงสารตกค้างในนาข้าวเท่าที่ควร ก็ต้องอาศัยทำนาจากแปลงตัวเองให้ดูเป็นตัวอย่าง”

 

เกษตรกรต้องปรับตัว ต้องใส่ใจในการบริหารจัดการต้นทุนในแปลงนาของตนเองเพื่อให้อยู่ได้ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย สินสมุทร คงประโยชน์ ชาวนาต้นแบบ เกริ่นนำ พร้อมบอกว่า ในส่วนของปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชอาจจะยังต้องใช้ แต่ก็ต้องผสมผสานกับการใช้ปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์ ต้องให้ความร่วมมือ ไม่เผาในแปลงนา ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องรวมกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำนา และร่วมกันบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของการทำเกษตร และรวมกลุ่มเพื่อให้การช่วยเหลือจากรัฐง่ายขึ้น

 

“การอยู่รอดของชาวนานั้น ปัจจัยที่จะทำให้ได้เข้าถึงการช่วยเหลือ คือ การรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยขายของด้วย และต้องเป็นการทำเกษตรที่ดีต่อคนและสิ่งแวดล้อม” ประพันธ์ ตรีบุบผา นายอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สรุปในตอนท้าย

kinyupen