PM 2.5 สาหัส ทุกคนต้องร่วมแก้ ไม่งั้นตายหมู่

0
804
kinyupen

ข่าวด่วนวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต เพราะล่าสุดบางพื้นที่ในประเทศไทย คุณภาพอากาศเลยระดับ “สีแดง” (มีผลกระทบต่อทุกคน) ไปเป็นระดับ “สีม่วง” ซึ่งหมายความว่า (มีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง)  หลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วเราได้ทำอะไร แก้ปัญหาอะไรในระดับชาติกันไปแล้วบ้าง วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำผู้อ่านทุกท่านมาติดตามเรื่องนี้ไปพร้อม ๆกัน

ถ้าเราจะพูดถึงสาเหตุการเกิด PM 2.5 หลายสถาบันวิจัย ทั้งไทยและต่างประเทศต่างวิเคราะห์ วิจัยสาเหตุของการเกิด PM 2.5 ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะต่างๆ และการเผาวัสดุต่างๆ โดยไอเสียจากรถยนต์ดีเซล คือที่มาหลักของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ดังนั้น มาตรการปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและมาตรฐานเครื่องยนต์ จึงมีความสำคัญในฐานะเครื่องมือควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด

The World Bank และ Institute for Health Metrics and Evaluation University of Washington, Seattle (2560) ได้จัดทำแบบจำลองเพื่อประเมินต้นทุนความเสียหายจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก เปรียบเทียบระหว่างปี 2533 และปี 2556 พบว่าในปี 2556 มีประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากมลพิษทางอากาศสูงถึง 5.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน10 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด สำหรับประเทศไทยประเมินว่า มีผู้เสียชีวิต 31,173 คน ในปี 2533 และเพิ่มเป็น 48,819 คน ในปี 2556 และก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ สูงถึง 210,603 ล้านบาท ในปี 2533 ก่อนเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเป็น 871,300 ล้านบาท ในปี 2556

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงพลังงาน พบว่า สาเหตุของ PM 2.5 ในประเทศไทยมาจาก ‘การเผาในที่โล่ง’ เป็นแหล่งกำเนิดของ PM 2.5 มากที่สุด ตามด้วยอุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง โดยภาคการผลิตไฟฟ้านั้นเป็นแหล่งกำเนิด PM 2.5 ในอันดับที่ 4

ส่วนในเรื่องของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของแต่ละประเทศก็มีแนวทางแก้ปัญหาแตกต่างกันไป ซึ่งมาตรการของแต่ละประเทศมีดังนี้

1.จีน ซึ่งเจอปัญหาฝุ่นมานาน การแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ห้ามปิ้งย่าง บาร์บีคิว ใช้โดรนพ่นสารกำจัดหมอกควัน ยิงจรวดสร้างฝนเทียม ติดสปริงเกอร์ขนาดยักษ์ ส่วนระยะยาวมีการควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม การใช้พลังงานเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟความเร็วสูง ลดใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้พลังงานลม พลังงานสะอาด มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน ตรวจวัดสภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง การใช้กฎหมายภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกรุงปักกิ่ง กำหนดเก็บภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอัตรา 12 หยวน ต่อหน่วยการปล่อยมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

2. เกาหลีใต้ ระยะสั้นมีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง มีการส่งข้อความแจ้งเตือนปริมาณฝุ่นโดยตรง จากรัฐบาลผ่านแอปพลิเคชัน การตั้งเซนเซอร์กระจายทุกที่ ทำให้มีความละเอียดในการตรวจวัดมากขึ้น มีการลดชั่วโมงการผลิตโรงไฟฟ้า จำกัดการผลิตไฟฟ้าที่ 80% และทำฝนเทียม ส่วนระยะยาว มีการจัดให้บริการขนส่งฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อช่วยลดปริมาณใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การจำกัดการใช้รถรุ่นเก่า ขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ประกาศใช้โครงการนำร่องโดรนติดกล้องบินตรวจตราพื้นที่แถบชานกรุงโซล เพื่อสอดแนมดูว่าที่ไหนแอบปล่อยมลพิษเพื่อลงโทษ เรียกว่า วัตถุประสงค์การใช้โดรนคนละเรื่องกับไทย ที่ใช้กระจายมาราดน้ำจากท้องฟ้า

3. อินเดีย มีการสั่งลดการก่อสร้างและการรื้อถอนที่ทำให้เกิดฝุ่นทันที มาตรการการฉีดพ่นน้ำ โดยใช้น้ำแบบพิเศษที่มีคุณสมบัติไฟฟ้าสถิต เพื่อให้มีฝุ่นเกาะดีขึ้น อาจจะไม่ใช่น้ำตาล การปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินชั่วคราว มาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ ที่เป็นแนวทางที่ไทยควรทำ เช่น การเพิ่มอัตราค่าจอดรถในพื้นที่สาธารณะให้สูงขึ้น เพื่อบั่นทอนคนอยากใช้รถยนต์ส่วนตัวไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น การห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ เพราะเป็นปัญหาของมลพิษ เช่น เอสยูวี ขนาดใหญ่กว่า 2,000 ซีซี การยกเลิกใช้แท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซล เพิ่มสายรถประจำทาง และขบวนตู้รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งไทยน่าเอาอย่าง จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะเพิ่มขบวนตู้รถไฟฟ้า MRT และ BTS ในช่วงวิกฤตหมอกควัน เพื่อมารองรับความต้องการของคนที่จะหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากกว่ารถส่วนตัว

4. ญี่ปุ่น มีการคุมเข้มการปล่อยก๊าซพิษจากเครื่องยนต์มานานแล้ว โดยเฉพาะรถดีเซลที่เข้าเมือง และปรับหนักกับรถปล่อยควันดำ มีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ เพื่อให้การเผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และตัวดักจับกรองฝุ่นกองก๊าซพิษ มาตรการตรวจสภาพรถยนต์อย่างเข้มงวดทุกปี

5. อังกฤษ ลดการใช้เชื้อเพลิง ทั้งไม้และถ่านหิน ทั้งกลางแจ้งและครัวเรือนทันที และการออกกฎหมายอากาศสะอาด หลังจากปี 1952 เกิดเหตุการ Smog ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.2 หมื่นคน

6. สเปน มีมาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศ กระตุ้นให้คนใช้รถจักรยาน ซึ่งมาตรการนี้เขาทำได้ เพราะไม่ได้ฝนตกบ่อยเหมือนไทย และอากาศเย็นสบายเหมาะแก่การปั่นจักรยาน รวมถึงมาตรการรถยนต์รุ่นเก่าที่ก่อมลพิษมากที่สุดจะถูกห้ามขับเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศ

7. ฝรั่งเศส การห้ามขับเข้าไปในย่านใจกลางเมืองช่วงกลางวัน โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล และห้ามใช้รถยนต์ตลอดถนนฝั่งขวาของแม่น้ำแซน ห้ามใช้รถยนต์ในถนนฌองเซลิเซเดือนละครั้ง และห้ามใช้รถรุ่นเก่าและรถดีเซลขับเข้าย่านใจกลางเมืองหลวงอย่างสิ้นเชิง มีมาตรการอุดหนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยวิธีอื่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

8. สวีเดน พื้นฐานประเทศนั้น มีมลพิษน้อย แต่กมีมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถที่ขับเข้าไปในพื้นที่การจราจรหนาแน่น เพื่อบั่นทอนไม่อยากให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวในพื้นที่ใจกลางเมือง

9. เนเธอร์แลนด์ ส่งเสริมระบบรถราง โดยหมู่บ้านชานเมือง ห้ามไม่ให้ผู้คนจอดรถใกล้บ้านเรือน ผู้อยู่อาศัยที่ไม่ใช้รถยนต์จะได้รับอัตราค่าเช่าบ้านถูกกว่าคนที่มีรถ เป็นการสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบาย

10. เดนมาร์ก ส่งเสริมการใช้รถจักรยานมากกว่ารถยนต์ และยกเลิกใช้รถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 10 ปี เพื่อไม่ให้มีรถเก่าในเมือง

11. ฟินแลนด์ ลงทุนเรื่องขนส่งสาธารณะ

12. บราซิล ส่งเสริมการใช้ระบบโดยสารขนาดใหญ่และราคาถูก

ส่วนนโยบายการลดค่าฝุ่น PM 2.5 ของไทยและในส่วนของเมืองหลวงนั้น ก็ยังคงเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์กันอย่างหลากหลายถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด แก้ที่ปลายเหตุ แก้แบบระยะสั้น เพราะสาเหตุจากความขัดแย้งระหว่างการส่งเสริมเศรษฐกิจกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในสังคมที่ไม่สามารถไปทางเดียวกัน หรือหาช่องที่ลงตัวคุยกันได้ สุดท้ายผลกระทบตกที่ใคร ? ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ออกเป็นกฎหมายยิ่งดี บังคับใช้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟันกันไปเลย !!

สรุปง่าย ๆ  PM 2.5 ก็เป็นปัญหาวิกฤตที่กระทบสุขภาพของทุกคน ทุกคนต้องช่วยกันลดมลพิษทางอากาศ ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง

เริ่มจากถามตัวเองว่า จะช่วยทำอะไร เพื่อลดฝุ่น ควันพิษ หากเลี่ยงกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะได้ก็ควรเลี่ยงไปก่อนในช่วงนี้ และอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยรุ่นที่รองรับการกันฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณเนื้อหา : air4thai/bbc/กรมควบคุมมลพิษ/กรุงเทพมหานคร/Manageronline

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here