แชร์ประสบการณ์โรคซึมเศร้า ทำอย่างไรให้เบาบางลง

0
806
kinyupen

โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น แม้แต่คนที่ชีวิตดูสมบูรณ์แบบก็เป็นซึมเศร้าได้เช่นกัน และใช่ว่าโรคซึมเศร้าจะไม่มีทางหายขาด หากรักษาถูกจุดก็สามารถรับมือกับอาการ “ดิ่ง” ได้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีประสบการณ์โรคซึมเศร้าจากผู้หญิงคนหนึ่งมาแชร์ให้ฟัง และปัจจุบันเธอผ่านมันมาได้แล้ว

 

 

คุณเจ – มัณฑิตา พร้อมเพรียงชัย นักธุรกิจสาว คนรุ่นใหม่ วัยเพิ่ง 29 ปี โปรไฟล์ดี เรียนจบปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ ภาคอินเตอร์ สาขา Communication Management  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อด้วยการเรียนภาษาจีนแบบเข้มข้นที่ไต้หวัน หลังจากนั้น กลับมาทำงานสานต่อกิจการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของพ่อ ปัจจุบัน เจถือเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ  มีประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากว่า 4 ปีแล้ว และเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ทาวน์โฮมที่รังสิต คลอง 4 ชื่อตัวเอง คือ มัณฑิตา วิลเลจ

 

ประหลาดใจไม่น้อย เมื่อทราบว่า คุณเจเล่าให้ฟังว่า เจเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน!!

 

สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตที่เคยทำ ก็คือ การลุกออกจากเตียง

 

 

คุณเจเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นที่รู้ว่า ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัย ปี 3 จำได้ว่า อยู่ ๆ ก็ร้องไห้โดยไม่รู้เหตุผล ร้องแต่ละทีนาน 2-3 ชั่วโมง เจบอกแม่ว่า อยากไปหาจิตแพทย์ แต่แม่ในตอนนั้นไม่เข้าใจ กลัวว่าถ้าไปหาหมอ คนอื่นจะคิดว่า เราเป็นบ้า

 

เมื่อถามถึงสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า คุณเจเล่าว่า ครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญ ทุกครอบครัวย่อมมีปัญหา แต่จุดสำคัญคือ เด็กรับมือกับปัญหาครอบครัวได้อย่างไร อย่างกรณีของคุณเจ พ่อแม่เลิกกันตั้งแต่เจยังแบเบาะ เจอยู่กับพ่อ ขณะที่แม่ไปมีครอบครัวใหม่ มีลูกชาย 1 คน แต่ในภายหลังเลิกกัน แล้วพ่อกับแม่เจกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งด้วยเหตุผลเพื่อดูแลลูก

 

“เจอยากทำพอดแคสต์เรื่องการให้คำแนะนำครอบครัวเวลาที่เกิดปัญหา โดยมีหมอมาให้คำปรึกษา เพื่อให้เด็กที่อาจจะพูดคุยปัญหากับพ่อแม่ไม่ได้ สามารถมีทางออก มีคนให้คำปรึกษาได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีเพื่อนที่คุยได้ แต่เพื่อนมีความรู้เท่า ๆ กัน ไม่ได้มีประสบการณ์ที่มากกว่า  อาจช่วยไม่ได้มาก อย่างกรณีเจ รู้เลยว่า เราไม่มีทางออก เวลามีปัญหา เวลาทะเลาะกับน้อง มีความเศร้าเสียใจ ไม่รู้จะระบาย หรือเล่าให้ใครฟัง  ไม่มีคนเข้าใจเรา ไม่รู้วิธีปลดปล่อยอารมณ์ มีแต่เก็บเรื่องเอาไว้ในใจ”

 

อาการซึมเศร้าเป็นหนักขึ้น ช่วงที่คุณเจมาเรียนภาษาจีนที่ไต้หวัน  โทรกลับมาบอกแม่ว่า ไม่ไหวแล้ว คือ ตอนนั้นรู้สึกเลยว่า ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว ทะเลาะกับแม่ทางโทรศัพท์  แต่ยังดีที่ในบทสนทนากับแม่ แม่บอกว่า แม่ไม่เข้าใจแต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่จะไปศึกษาเรื่องนี้ คำพูดนี้เองทำให้คุณเจรู้สึกตื้นตันใจที่แม่พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ

 

“ที่ไต้หวันเรียนหนักมาก ทั้งที่จริง ๆ เรียนแค่วันละ 4 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 ชั่วโมงเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ละไม่เกิน 4 คน ส่วนอีก 1 ขั่วโมงเรียนแบบตัวต่อตัว พูดภาษาจีนอย่างเดียว ห้ามสื่อสารด้วยภาษาอื่น ทุกคนจริงจัง เตรียมเนื้อหามาจากบ้าน พอเข้าห้องเรียนต้องพูดอย่างเดียว ถ้าใครไม่เตรียมตัว คุณจะเป็นจุดบอดทันที เลยทำให้เจรู้สึกกดดันมาก ต้องรับผิดชอบ รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระให้พ่อแม่ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงเรา ไม่อยากอยู่เป็นภาระ อยากตายแต่ก็รู้สึกว่าตายไม่ได้ เพราะถ้าตายพ่อแม่จะเสียใจ ความรู้สึกมันเลยกลับไปกลับมา เศร้าที่ต้องอยู่คนเดียว”

 

คุณเจเริ่มปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออก แต่หมอในตอนนั้นพยายามบอกให้เจปล่อยวาง ให้เลิกคิดเลิกรู้สึกว่า ต้องเป็นฮีโร่ ต้องรับผิดชอบ เลยยิ่งทำให้เจซึมเศร้าหนัก แต่ด้วยความมุมานะ กดดันตัวเอง เจเรียนจบได้เกรด A ทั้งหมด  ขณะเดียวกันเจยอมรับการรักษาด้วยการกินยา  เพราะคิดว่า ยาเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาอาการซึมเศร้า

 

“เจทานยาติดต่อกันมา 5 ปี ช่วง 2 ปีแรกของการรักษา หมอมีแต่ให้ยา ไม่ได้คุยอะไรด้วยเลย เจมีแต่พูด ๆ ไป จนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว เจลองหยุดกินยา เพราะตอนนั้นคิดว่า เราดีขึ้นแล้ว ความรู้สึกดีขึ้นไม่ได้ดีด้วยยา เพราะยามันทำให้เรารู้สึกชา ๆ คือ ยาทำให้เราไม่รู้สึกแย่ แต่ขณะเดียวกัน เวลาที่มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น เราก็ไม่รู้สึกดี  มันเหมือนกับว่า ยาทำให้เรานิ่ง ๆ เฉยๆ เหมือนอารมณ์เป็นเส้นตรง ไม่ดีไม่เลว ไม่ Sad  แต่ก็ไม่ Happy  จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว เจลองหยุดกินยาปั๊บ มีวันนึงดูยูทูป มีคลิปนึงทำให้เราหัวเราะออกมา ซึ่งเจตกใจมาก ส่องกระจกดูหน้าตัวเอง เจร้องไห้เลยนะที่เห็นหน้าตัวเองกำลังหัวเราะ เพราะไม่เคยรู้สึกแบบนี้มานานแล้ว ไม่รู้ว่า ครั้งสุดท้ายที่ได้หัวเราะคือเมื่อไหร่”

 

คุณเจบอกกับหมอว่า ขอไม่รับยาแล้ว หลังจากนั้น คุณเจเริ่มจัดระเบียบชีวิต เริ่มออกกำลังกาย ศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิทุกวัน เริ่มค้นคว้า หาข้อมูลออนไลน์ถึงวิธีการจัดการกับตัวเองให้สามารถรับมือกับโรคซึมเศร้า

 

“โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องของจิต ถ้าเราจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ เราก็จะเข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นได้  ถ้าเราปล่อยให้มันเกิดขึ้น และมีอยู่ มันจะกลายเป็นนิสัย (Habit) มันก็จะมีผลต่อรางกาย ทำให้ร่างกายผลิตสารคอร์ติซอล (cortisol) ทำให้เราไม่อยากทำอะไร ซึ่งเราต้องฝืนตัวเอง เช่น เจไม่อยากเจอเพื่อน ก็ต้องไปเจอ เจไม่อยากออกกำลังกาย ก็ต้องออก ดังนั้น ใจความสำคัญ คือ เราต้องมีสติ รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบอกเลยว่า มันไม่ง่ายเลย”

 

เรื่องสุขภาพกายกับสุขภาพใจ มันไปด้วยกัน โรคซึมเศร้าเนี่ยมันไม่ได้เป็นเฉพาะจิตอย่างเดียว  เจคิดว่า มันไปด้วยกัน   บางทีเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรเกิดก่อน เหมือนกับไก่กับไข่ สมองเราเนี่ยแยกไม่ออกว่า ความจริงที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เราคิด ความเศร้าที่เกิดขึ้น ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่เรายังคิดถึง เรื่องนั้น ความรู้สึกกลับมาเท่าเดิมเลย

 

ดังนั้น ถ้าเกิดว่า ยังตัดไม่ได้ ยังคิดเป็นอารมณ์นี้ไปเรื่อย ๆ มันก็จะอยู่กับเรา เพราะว่ามันไม่ได้ลดลง มันต้องทำความเข้าใจ ต้องรู้ตัวเอง ต้องมีสติคอยเตือนตัวเอง

 

คำพูดปลอบใจไม่ได้ช่วยอะไร การนั่งข้างๆ เยียวยาใจมากกว่า

ซึ่งคนรอบตัว หรือเพื่อน ๆ ก็ช่วยได้ แต่ไม่ใช่การช่วยด้วยคำปลอบใจ เพราะบางทีคนซึมเศร้าไม่ได้ต้องการคำปลอบใจ คนซึมเศร้ารู้สึกว่า เรื่องที่เสียใจมันหนักหนาสาหัส ดังนั้น คำปลอบใจว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็ผ่านไป มันจึงไม่ช่วยได้เลย ขอแค่การนั่งอยู่ข้างๆ เพื่อแสดงให้เรารู้สึกว่า มีคนอยู่เป็นเพื่อนเรา แค่นี้ก็พอแล้ว

 

“สิ่งที่คนเป็นซึมเศร้าต้องการ ก็แค่คนที่อยู่ข้าง ๆ เวลาเรารู้สึกแย่ แค่อยู่ข้าง ๆ เป็นเพื่อน ไม่ต้องมาปลอบ ยิ่งปลอบเรายิ่งรู้สึกแย่ มาบอกเราว่า ทำอย่างนั้นสิ คิดอย่างนี้ เพราะเราคิด เราลองทุกอย่างแล้ว แต่มันไม่มีทางออก อารมณ์ตอนนั้น มันคิดไม่ได้จริง ๆ ว่าต้องทำอย่างไร”

 

ทุกวันนี้คุณเจมีระเบียบแบบแผนในการใช้ชีวิต มีตารางกิจวัตรที่ออกแบบเพื่อให้อยู่กับโรคซึมเศร้าโดยที่ไม่ให้เกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งคุณเจย้ำว่า การนอนเป็นสิ่งสำคัญ คือ ต้องนอนให้พอ นอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง

 

“เจนอนวันละ 8 ชั่วโมง เข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นประมาณ 6 โมง ต้องมีวินัยกับตัวเอง เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าถ้าเราทำให้ร่างกายดี สารที่หลั่งออกมามันก็ดี  กิจวัตรประจำวัน คือ เจจะตื่นตอน 6 โมงเช้า นั่งสมาธิวันละครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นจะออกกำลังกาย เช่น โยคะ เวทเทรนนิ่ง  แล้วก็ไปทำงาน เย็น ๆ เลิกงานจะฟังพอดแคสต์หาความรู้ ฟังเรื่องที่สนใจ แล้วก็เข้านอน”

 

ทุกวันตื่นขึ้นมาเจจะบอกกับตัวเองว่า วันนี้มีอะไรต้องทำบ้าง พยายามคิดว่า จะทำวันนี้ให้ดีที่สุด ที่สำคัญคือ ต้องมีสติ รู้ตัวตลอดเวลา

 

ใครที่กำลังรู้สึก Down เผชิญกับวันแย่ๆ อยู่ ลองสำรวจตัวเองดู เพื่อรับมือโรคซึมเศร้าตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าคิดว่าแค่เครียด ไม่ได้เป็นอะไรมากมาย หากพบว่าคุณมีความเครียดและวิตกกังวล ลองอ่าน และทำตามวิธีของคุณเจในขั้นต้น เผื่อจะช่วยบรรเทาได้ อย่างไรก็ตามหากความรู้สึกแย่ๆ นี้เรื้อรังจนพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าควรปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักบำบัดก่อนจะดีที่สุดค่ะ

kinyupen