ทางแก้ เมื่อเรียนออนไลน์ทำ ครู-เด็กนักเรียน-ผู้ปกครองหัวร้อน

0
422
kinyupen

พ่อแม่ไม่มีเวลาเฝ้าดูเด็ก เพราะต้องทำงาน

นักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน แอบเล่นโทรศัพท์ เล่นเกมส์ตอนเรียนหนังสือ

นักเรียนไม่มีสถานที่ที่เรียนสงบพอจะเรียน

ครูให้การบ้านที่ยากเกินควร ผู้ปกครองสอนการบ้านเด็กไม่เป็น

ครูใช้โปรแกรมไม่ชำนาญ

 

ปัญหาเหล่านี้พอเจอได้บ่อยในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพื่อลดเสี่ยงโควิด-19 ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายกับระบบการศึกษาอย่างมาก แม้นักเรียนส่วนใหญ่จะเรียนได้ ไม่มีปัญหาอะไร ครูใส่ใจ ปรับแผนการสอนได้เหมาะสม นักเรียนมีใจเรียนหนังสือ มีผู้ปกครองซัพพอร์ตพร้อม แต่อย่างว่า ปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยแวดล้อม หรือแม้แต่ตัวบุคคลเองย่อมไม่เหมือนกัน มีเด็กอีกจำนวนมากที่ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสและยากไร้

เมื่อครู ผู้ปกครอง นักเรียน ไปด้วยกันไม่ได้ในระบบการเรียนออนไลน์ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตรวมทางออกของปัญหาการเรียนออนไลน์ ที่ทั้ง 3 ฝ่าย ต้องร่วมมือกันมาฝาก

 

สามเหลี่ยม ครู-ผู้ปกครอง-นักเรียน ที่ต้องสอดคล้องกัน

 

ครู

1.ปรับการเรียนการสอน

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED เคยให้ข้อมูลไว้ว่า

“การอ่านเพื่อจับใจความ และ การเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์” นี่คือปัญหาสำคัญของเด็กไม่เฉพาะแค่เด็กไทย แต่เพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน

ตรงนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญของเด็กเพราะถ้าเด็กไม่สามารถ อ่านแล้วจับใจความได้ หรือ ไม่เข้าใจในแง่ของคณิตศาสตร์ การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นของเด็กก็จะไปต่อไม่ได้ หรือ กลายเป็นเรื่องยาก

 

การจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ จึงอยู่ที่ว่า “ครู” ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญของเด็กจะสามารถปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ เพื่อร่วมไขอนาคตเด็กให้เดินต่อไปอย่างไร ซึ่งเราไม่สามารถที่จะนำมาตรฐานทางยุโรปมาปรับใช้เพราะปัจจัยสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน และยิ่งต้องเผชิญกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ยิ่งกลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นกว่าการสอนในห้องเรียนธรรมดา”

 

 

2.เพิ่มครูผู้ช่วยหรือครูพี่เลี้ยง ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องระบบออนไลน์

อาจให้ตัวแทนนักเรียนหรือหัวหน้าห้อง ช่วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น เปิดห้องเรียนออนไลน์ แชร์สื่อการเรียนการสอน

 

3.สื่อการเรียนการสอนเข้าถึงง่าย

สื่อการเรียนการสอน หรือใบงาน ควรพัฒนาแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายในทุกพื้นที่ และจัดให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

 

4.ลดงานหรือการบ้านที่ไม่เหมาะสมกับเด็กๆ

หลายเคสที่คุณครูแก้ปัญหานักเรียนเรียนไม่พอ ด้วยการให้การบ้านเยอะกว่าปกติ หรือยากกว่าปกติ หวังว่าเด็กจะเรียนรู้ ใช้เวลาเพิ่ม หรือให้ผู้ปกครองนั่นแหละสอน กลายเป็นความพินาศมากกว่าเดิม

 

Harris Cooper (2015) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยดุกซ์ แนะนำว่า “เวลาโดยเฉลี่ยที่เหมาะสมกับการให้เด็กวัยเรียน (6 ปี) ได้ฝึกฝนเนื้อหาที่เรียนไปในแต่ละวันเริ่มต้นที่ 10 นาที ซึ่งในชั้นเรียนถัดไปจะเพิ่มชั้นละ 10 นาที ไปเรื่อยๆ”

ดังนั้น ในเด็กประถม 1 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 10 นาที ต่อวัน

ในเด็กประถม 2 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 20 นาที ต่อวัน

ในเด็กประถม 3 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 30 นาที ต่อวัน

ในเด็กประถม 4 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 40 นาที ต่อวัน

ในเด็กประถม 5 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 50 นาที ต่อวัน

ในเด็กประถม 6 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 60 นาที ต่อวัน

และพอเด็กๆ ขึ้นชั้นมัธยม 1 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 1.10 ชั่วโมง ต่อวัน

เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

 

ผู้ปกครอง

1.เข้าอกเข้าใจ

แม้ต้องทำงานแต่หลังเรียนเสร็จก็ต้องช่วยเด็กๆ ทำการบ้านที่ได้รับมาอีก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกเสียหายกันไปพอควร ถ้าเขาทำผิดก็แค่สอนเขาในสิ่งที่ถูก ผู้ใหญ่ต้องใจเย็นให้มากๆ เรารู้คำตอบเพราะเราเรียนมามากขนาดไหนแล้ว พึงระลึกเสมอว่าข้อจำกัดที่เด็กแต่ละคนมีไม่เท่ากัน เมื่อระเบิดลงเมื่อไหร่ ตัวชี้วัดทางลบจะไปปรากฏที่วัยทีนและวัยรุ่น

 

2.บริหารจัดการเวลา

แม้การเรียนออนไลน์จะยืดหยุ่นมาก แต่ต้องมีบ้างที่โดนโยนการบ้านโครมมม ก่อนอื่นเช็กก่อน การบ้านมากแค่ไหน ยากหรือง่าย  แล้วแบ่งเฟสวันต่อวัน

วิธีการที่ง่ายที่สุด คือ “การย่อยงาน (Task analysis)” นำงานที่ “ยาก” และ “เยอะ” มาแบ่งให้เป็นงานย่อยๆ เพื่อให้เด็กๆ ใช้เวลาจดจ่อสั้นลง และประสบความสำเร็จบ่อยขึ้น

 

3.อย่าเรียนมากเกินไป เล่นน้อยเกินไป

สิ่งที่น่าจะแย่ที่สุด คือ การที่เด็กถูกพรากวัยเยาว์ของเขาไป เรียนก็ไม่เข้าใจ ออกไปไหนก็ไม่ได้ นักเรียนบางคนอาจจะมีเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกจากเวลาเรียนปกติ บ้านกลายเป็นโรงเรียนไปแล้ว เหมือนๆ อาการ Work From Home แล้วหมดไฟ เพราะไม่มีผ่อนคลายในบ้าน

ผู้ปกครองควรพิจารณาเพิ่ม-ลดเวลาเรียน เวลาเล่นตามความเหมาะสม แล้วจัดมุมผ่อนคลายในบ้านเสียหน่อย

 

นักเรียน

ทุกอย่างที่ผู้ใหญ่ซัพพอร์ตจะไม่เกิดประโยชน์เลย หากตัวนักเรียนเองขาดความตั้งใจ และความใส่ใจ

  • สร้างแรงจูงใจ รางวัล หรือนึกถึงบทลงโทษอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
  • สร้างมุมสงบให้ตัวเอง ตั้งสมาธิ ไม่เรียนบนเตียง
  • ท่อง (แม้มีเพื่อนท่องพร้อมกัน) หรือสร้างเทคนิคจำให้แม่น
    นึกถึงตอนเรียนที่โรงเรียน เราสามารถท่องสูตรคูณ หรืออ่านกลอนพร้อมกันกับเพื่อนได้ แต่เมื่อเรียนออนไลน์ บางโรงเรียนอาจไม่มีให้ท่อง จากปัญหาเสียงดีเลย์ นักเรียนปิดไมค์ ฯลฯ ให้ฝึกท่องจำสูตรต่างๆ คนเดียวให้แม่น พยายามอ่านจับใจความและเข้าใจความสัมพันธ์ด้วย
  • ไม่ขาดการติดต่อจากเพื่อน – ครู
    ใครที่ไม่ชอบอ่านไลน์ หรือขี้เกียจอ่านประกาศวิชาเรียน อย่าคิดว่าเพื่อนจะช่วยเตือนตลอด มันไม่เหมือนเดิมที่เวลาเพื่อนเดินไปเรียนที่ไหน เราก็ตามไปด้วย เกาะเพื่อนไว้แน่นๆ ห้ามพลาดข้อมูลการเรียน

 

ผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะลืมไป เพราะเรามัวแต่มองผลลัพธ์ ความถูกต้องเป็นสำคัญ ตอนนี้กุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ครูคนเดียวอีกต่อไปแล้ว ครู ผู้ปกครอง นักเรียน สามฝ่ายนี้ต้องมีความใส่ใจเหมือนกัน สุดท้ายนี้กินอยู่เป็นขอส่งพลังใจให้ แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ

 

ที่มา

ตามใจนักจิตวิทยา

สรุปข้อดีข้อเสีย การ ‘เรียนออนไลน์’ ดีหรือไม่ อย่างไร (thairath.co.th)

kinyupen