5 สัญญาณเตือนภัยผู้หญิง ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน

0
883
kinyupen
  1. ปวดท้องน้อย สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน
  2. ปวดท้องน้อยรุนแรง มากขึ้นตามอายุ ต้องพึ่งยาแก้ปวดมากขึ้น แม้ไม่ได้มีประจำเดือนก็ปวด
  3. ผู้หญิงที่มีบุตรยาก
  4. ผู้หญิงที่มีอาการเจ็บปวด ขณะมีเพศสัมพันธ์
  5. มีแม่ พี่สาว หรือญาติฝ่ายตรง เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มาก่อน

 

5 สัญญาณข้างต้น พ.ต.ท.นพ.อรัณ ไตรตานนท์ กลุ่มงานสูตินรีเวช งานมะเร็งวิทยานรีเวช ผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.ตำรวจ เจ้าของเพจให้ความรู้ด้านสุขภาพผู้หญิง “อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน” ต้องออกโรงเตือนผู้หญิง ให้รู้ตัวว่าหากเจอสัญญาณแบบนี้ เสี่ยงโรค “เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” ถามหา! เรียกว่าเป็นภัยเงียบที่ทำร้ายผู้หญิงเลยทีเดียว ทั้งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดปัญหาความสัมพันธ์สามีภรรยา ไปจนถึงเป็นสาเหตุการเสียชีวิต หากปล่อยปละละเลย

 

พ.ต.ท.นพ.อรัณ ไตรตานนท์ กลุ่มงานสูตินรีเวช งานมะเร็งวิทยานรีเวช ผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.ตำรวจ

 

อะไรคือสาเหตุของโรค?

 

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ทางทฤษฎีเชื่อว่า มีสาเหตุมาจากประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในช่องท้อง ไปตกในอุ้งเชิงกราน หรือไหลไปตามกระแสเลือด ไปเกาะอวัยวะต่างๆ เพราะในประจำเดือนมี “เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก” คุณสมบัติเหมือนเซลล์มะเร็ง เมื่อไปเกาะอวัยวะไหนจะเกิดพังผืด,พั้งผืดรัดอวัยวะนั้น เช่น เกาะที่สะดือ ทำให้ปวดสะดือมาก เกาะที่ท่อไต ทำให้ไตวาย เกาะที่ลำไส้ ทำให้ท้องผูก หรืออุจจาระเป็นเลือด หากไปที่ปอด ทำให้ไอเป็นเลือด บางคนลามไปยังสมอง ในรายที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไปอยู่ในรังไข่ จะสะสมจนขนาดโตขึ้น เป็นก้อนดำคล้ำ สีคล้ายช็อกโกแลต เรียกว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลต ซีสต์นั่นเอง

 

มีบางรายไม่เคยตรวจ จนช็อกโกแลต ซีสต์ ใหญ่ถึง 8-10 ซ.ม.ในที่สุดก็แตก ตกเลือดในท้อง ทำให้เสียชีวิต นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัดส่วน 0.1-1% พบเซลล์มะเร็งรังไข่ชนิด Clear Cell จากการกลายพันธุ์

 

ผู้หญิงกลุ่มไหนเสี่ยง?

 

พ.ต.ท.นพ.อรัณ ย้ำว่า ผู้หญิงเกือบทุกคนมีโอกาสที่ประจำเดือนจะไหลย้อนกลับด้วยกันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เป็น “โรค” ในผู้หญิง 100 คน ประจำเดือนไหลย้อนกลับได้ 90 คน แต่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ได้ราว 1015 คน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ดังนั้นกลุ่มหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์ เสี่ยงทั้งสิ้น เพราะโรคสัมพันธ์กับการมีประจำเดือนโดยตรง

 

แต่ปัญหาของโรค อยู่ที่อาการไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค และระยะแรกมักไม่แสดงอาการด้วย พ.ต.ท.นพ.อรัณ เล่าว่า บางรายมีถุงน้ำฯ ขนาด 1 ซม. แต่ปวดรุนแรง บางรายถุงน้ำฯ ขนาด 10 ซม.แต่กลับไม่มีอาการ

อีกปัจจัยใหญ่ คือ คนไข้บางคนไม่ยอมไปหาหมอสูตินารี เพราะกลัวถูกตรวจภายใน จนมีอาการมากขึ้น บางคนเรียน หรือ ทำงานไม่ได้ ปวดถึงขั้นเป็นลมก็มี เลยต้องย้ำว่า “โรคนี้เหมือนทุกโรค คือ รู้เร็ว รักษาทัน” อีกอย่างอาการปวดท้องน้อย ยังมาจากหลายสาเหตุ อาจเป็นโรคอื่นได้ อาทิ ลำไส้ หรือ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมถึงเนื้องอก จึงขอให้ “มาหาหมอแต่เนิ่นๆ” และบอกอาการให้ชัด หากมีอาการคล้ายเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรงพยาบาล จะส่งต่อมายังหมอสูตินารี เพื่อรักษาต่อไป

 

 

“อย่ามโนภาพไปเอง จนกลัวหมอสูติฯ กลัวการขึ้นขาหยั่งตรวจภายใน ขอให้หาข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ ความกลัวจะลดลง ยืนยันว่าหมอจะมีกระบวนการซักประวัติก่อน และการตรวจระบบภายในผู้หญิง ก็ทำได้หลายวิธี อัลตร้าซาวด์ทางหน้าท้อง หรือตรวจภายในทางทวารหนัก หรือจะวางยาสลบก็ได้”

 

รักษาให้หายได้อย่างไร?

 

มาถึงวิธีการรักษา พ.ต.ท.นพ.อรัณ อธิบายว่า มี 2 แบบ รักษาด้วยยา และการผ่าตัด สำหรับการให้ยา จะมีทั้งให้ยาแก้ปวดธรรมดา สำหรับคนไข้ที่ปวดไม่มาก และอัลตร้าซาวด์ไม่พบถุงน้ำฯ รวมถึงการให้ยาแบบเฉพาะเจาะจง ในกลุ่มคนไข้ที่มีถุงน้ำฯ และปวดรุนแรง แต่การให้ยาแบบนี้ จะไปขัดขวางการตกไข่โดยธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ดังนั้นหมอจะพิจารณาให้หยุดยาหากคนไข้ต้องการมีลูก แต่เนื่องจากโรคนี้กลับมาเป็นซ้ำได้ หลังมีลูกแล้ว หมอจะประเมินอาการใหม่ก่อนเสม เพราะธรรมชาติกำจัดโรคนี้ได้เองจากการตั้งครรภ์ โดยพบสถิติผู้หญิงที่ไม่มีลูก เป็นโรคนี้มากกว่ากลุ่มที่มีลูกถึง 7 เท่าเลยทีเดียว

ส่วนกลุ่มคนไข้ที่ต้องผ่าตัด คือ กินยาไม่ดีขึ้น มีถุงน้ำฯ เกิน 3 ซม. แต่งงานกับสามีเกิน 1 ปีไม่ตั้งท้อง และกลุ่มผู้หญิงที่ปวดประจำเดือนมาก และซักประวัติแล้ว มีอาการเหมือนโรคเยื่อบุเจริญผิดที่ แต่อัลตร้าซาวด์ปกติ

 

โดยวิธีผ่าตัดปัจจุบัน ก็สามารถผ่าตัดผ่านกล้อง เจ็บน้อย และแผลเล็กมาก ไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง อย่างไรก็ตามเพื่อลดภาระคนไข้ ยังมีแนวทางการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด ในคนไข้ที่มีอาการเข้าข่าย โดยให้ยาฮอร์โมนไปก่อน (Empirical treatment) ซึ่งจากสถิติพบว่า คนไข้หายได้ตั้งแต่ 2 เดือนแรก ทำให้คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัว และเสียเงินจากการผ่าตัด

 

เมื่อรักษาแล้ว หายขาดได้ สามารถกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำได้หรือไม่ ? เป็นคำถามของคนไข้หลายคน พ.ต.ท.นพ.อรัณ ให้คำตอบว่า กลับมาเป็นซ้ำได้ แม้ผ่านการให้ยา หรือผ่าตัดแล้ว ตราบใดยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ หรือ มีประจำเดือนนั้นเอง จะปลอดจากโรคนี้จริงๆ ต่อเมื่อเข้าสู่วัยทอง หรือหมดประจำเดือนแล้ว

 

พ.ต.ท.นพ.อรัณ ย้ำว่า การที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่มีโอกาสเกิดโรคนี้ด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องไม่ปล่อยปละละเลย จนโรครบกวนการใช้ชีวิตมากขึ้นๆ และทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น ขอฝากว่า “ปวดท้องน้อย อย่าปล่อยผ่าน” รีบมารักษา ก่อนสายเกินแก้

kinyupen