เป็นเบาหวาน ต้องงดกินผักผลไม้แบบใด? แบบไหนทานได้?

0
962
kinyupen

หลายคนที่เคยสับสน ในเมื่อผู้ป่วยเบาหวานต้องเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาล แล้วผัก-ผลไม้ที่เป็นประโยชน์ต้องร่างกายล่ะ? บางที่กล่าวว่า ห้ามทานผลไม้รสหวานเลย ขณะที่บางที่กล่าวว่าทานได้ตามปกติ เกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วแท้ที่จริงควรทานอย่างไรกันแน่

 

กินอยู่เป็น 360  องศาแห่งการใช้ชีวิตนำการกินผักผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จาก นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ใน Delight BY SCG Debenture Club ฉบับ เมษายน-มิถุนายน 2564 มาฝาก

 

เรื่องนี้เป็นไปตามสุภาษิตไทยที่ว่า “มากหมอมากความ” ผู้ฟังต้องกลั่นกรอง หาหลักฐานหลายๆ ด้าน แล้วตัดสินใจเอา แต่ในกรณีนี้ ผมจะสรุปหลักฐานเท่าที่มีมาเล่าให้ฟัง แต่ก่อนอื่นขอย้ำให้เข้าใจปัญหาของการเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนว่า การเสพติดคืออุปสรรคสำคัญ และน้ำตาลก็เป็นตัวเอ้ที่คนเสพติดกันมากที่สุด ดังนั้นทุกคนควรหัดทานของที่ไม่หวาน เพื่อลดการเสพติดรสหวาน เพราะน้ำตาลไม่ใช่ของดีอะไร

 

ควรจำกัดผักผลไม้หรือไม่

ข้อสงสัยที่ว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรจำกัดการทานผลไม้หรือไม่ตอบว่าไม่ควรจำกัดครับ สิ่งนี้เป็นประเด็นที่เรียกว่า Fruit Restriction ซึ่งเป็นความเชื่อของแพทย์จำนวนมากว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่กลับยังไม่มีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการทานผลไม้มากกับการทำให้เป็นเบาหวานมากขึ้น หรือทำให้โรคเบาหวานแย่ลงในระยะกลางหรือระยะยาวแต่อย่างใด นอกเหนือไปจากที่รู้กันอยู่แล้วว่า อาหารบางชนิดทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นชั่วคราวหลังทานเข้าไป

 

แต่ในแง่ของผลระยะยาว มีหลักฐานจากงานวิจัย EPIC-Norfolk study ซึ่งเป็นการวิจัยประชากรแบบตัดขวางเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการทานผักผลไม้กับน้ำตาลสะสมในเลือด จากประชากรที่มีอายุ 45 – 74 ปี แบ่งเป็นชาย 2,678 คน หญิง 3,318 คน ซึ่งไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน พบว่ากลุ่มที่ไม่ทานหรือทานผักผลไม้น้อย มีระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 5.43% ขณะที่กลุ่มทานมากมีน้ำตาลสะสมเฉลี่ย 5.34% ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า กลุ่มทานผักผลไม้มากกว่าสัมพันธ์กับการมีน้ำตาลในเลือดที่ต่ำกว่า

 

ส่วนงานวิจัยที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างเด็ดขาดคืองานวิจัยจากเดนมาร์ก ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Journal ที่สุ่มตัวอย่าง แบ่งกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานออกเป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มแรกจำกัดปริมาณผลไม้ไม่ให้ทานเกิน 2 ชิ้น
  • ส่วนกลุ่มหลังให้ทานได้อย่างอิสระ

ทำการวิจัย 12 สัปดาห์พบว่า น้ำตาลสะสมในเลือดลดลง ทั้ง 2 กลุ่มอย่างไม่แตกต่างกัน นี่จึงเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดเท่าที่วงการแพทย์มี ซึ่งช่วยให้สรุปได้ว่าไม่ควรจำกัดการทานผลไม้ในผู้ป่วยเบาหวาน

 

อาหารดัชนีน้ำตาลสูงมีผลอย่างไร

กับคำถามที่ว่า อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (หรืออาหารที่ทานแล้วน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังทาน) ทำให้เป็นเบาหวานและไม่ดีต่อสุขภาพหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่สามารถสรุปในลักษณะนั้นได้

เพราะทางการแพทย์เรียกว่า เป็น Controversy คือในด้านหนึ่งเป็นความจริงที่ว่าอาหารดัชนีน้ำตาลสูงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทันทีหลังทานมากกว่าอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่ในอีกด้านหนึ่งไม่เป็นความจริงที่ว่าอาหารดัชนีน้ำตาลสูงทำให้โรคเบาหวานหรือสุขภาพแย่ลง เพราะงานวิจัยที่ให้ข้อสรุปเด็ดขาดในเรื่องนี้ชื่องานวิจัย OniCarb ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร JAMA ได้สุ่มตัวอย่างคนที่มีน้ำหนักมากผิดปกติมาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ทานอาหาร 4 แบบ โดยแต่ละแบบให้ทานนาน5 สัปดาห์

 

โดยที่อาหารทั้งหมดอยู่ในแนวทางอาหารลดความดันเลือด (DASH Diet) ผลวิจัยพบว่ากลุ่มที่ทานอาหารแบบดัชนีน้ำตาลทั้งแบบสูงและแบบต่ำ ล้วนมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือระดับน้ำตาล ระดับอินซูลิน กราฟความไวต่ออินซูลิน ระดับไขมันในเลือด ความดันเลือด และน้ำหนักตัวที่ไม่แตกต่างกันเลย จึงสรุปได้ว่าดัชนีน้ำตาลจะมีผลต่อน้ำตาลในเลือดหลังทานอาหารเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่หากนำมาใช้นานหลายสัปดาห์ กลับไม่เปลี่ยนระดับตัวชี้วัด อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

 

ควรเลี่ยงผลไม้รสหวานใช่หรือไม่

อีกประเด็นหนึ่งที่คนถามกันมากคือ ผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรทานผลไม้ที่มีรสหวานใช่หรือไม่ เรื่องนี้คำตอบขึ้นกับชนิดของผลไม้ด้วย หลักฐานที่ดีที่สุดในเรื่องนี้เป็นงานวิจัยของฮาร์วาร์ดที่ติดตามกลุ่มตัวอย่าง 187,382 คนนานสิบกว่าปี ซึ่งระหว่างติดตาม มีคนเป็นโรคเบาหวานเกิดขึ้น 12,198 คน เมื่อวิเคราะห์พบว่าความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานลดหรือเพิ่มตามการทานดังนี้

 

 

สรุปได้ว่า ผลไม้ส่วนใหญ่ที่มีรสหวานบ้าง ไม่หวานบ้าง เช่น องุ่น เรซิน บลูเบอร์รี่ พรุน แอปเปิล แพร์ กล้วย เกรปฟรุต ส้ม สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานน้อยลง ขณะที่การทานผลไม้ 3 ชนิด คือ สตรอว์เบอรี่ แคนตาลูป และน้ำผลไม้ทิ้งกาก สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น ส่วนพวกมะละกอ สับปะรด แตงโม ทุเรียน ยังไม่มีหลักฐานวิจัยบอกได้ว่าสัมพันธ์ ในทางบวกหรือลบกับโรคเบาหวาน เพราะยังไม่มีงานวิจัยตีพิมพ์ไว้ครับ

 

ผมจึงแนะนำว่า

  • หนึ่ง รสหวานทำให้เสพติดอาหารยิ่งขึ้น การฝึกทานไม่หวานย่อมเป็นวิธีดูแลสุขภาพที่ดี
  • สอง คนเป็นเบาหวานไม่ควรจำกัดการทานผลไม้ ในทางตรงกันข้ามควรทานผลไม้ให้มากและหลากหลาย
  • สาม ประเด็นเป็นเบาหวานแล้วทานผลไม้รสหวานได้ไหมนั้นไม่สามารถตอบสรุปครอบคลุมผลไม้ทุกชนิดได้ ขณะนี้จึงมีผลวิจัยเพียงตามตารางข้างต้นเท่านั้น

แต่ที่ขอย้ำส่งท้ายคือ การเสพติดอาหารที่ชื่อว่า”น้ำตาล” ไม่ใช่ของดีแน่ ๆ ครับ

 

บรรณานุกรม

  • Wareham NJ: Fruit and vegetable intake and population glycosylated haemoglobin levels: the EPIC-Norfolk Study. Eur J Clin Nutr 2001, 55:342-348
  • Christensen, A.S., Viggers, L., Hasselstrom, K. et al. Effect of fruit restriction on glycemic control in patients with type 2 diabetes – a randomized trial. Nutr J 12, 29 (2013). https://doi.org/10.1186/1475-2891-12-29 Sargeant LA, Khaw KT, Bingham S, Day NE, Luben RN, Oakes S, Welch A
  • Sacks FM, Carey VJ, Anderson CA, et al. Effects of high vs low glycemic index of dietary carbohydrate on cardiovascular disease risk factors and insulin sensitivity: the OmniCarb randomized clinical trial. JAMA. 2014;312(23):2531-2541. doi:10.1001/jama.2014.16658
  • Muraki Isao, Imamura Fumiaki, Manson JoAnn E, Hu Frank B, Willett Walter C, van Dam Rob M et al. Fruit consumption and risk of type 2 diabetes: results from three prospective longitudinal cohort studies 2013;347:f5001
kinyupen