อย่าปล่อยให้ความหยาบคายทำร้ายเรา

0
370
kinyupen

หยาบแล้วเท่ ด่าแล้วเก๋ ตรงๆ ไม่ประดิษฐ์ ดูจริงใจ

ต้องหยาบคายให้สะใจคนฟัง จะได้ดัง ปังเร็ว

ค่านิยมแบบนี้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นบนโลกออนไลน์ และเริ่มดูเสมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมไทย เมื่อไม่พอใจใครก็ผรุสวาท ก่นด่า ระบาย หยาบคายใส่คนที่เห็นต่างในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะทัศนคติการเมือง การเชียร์ทีมกีฬา หรือ ความชื่นชอบดารา เพื่อยกตัวตนสร้างพวกพ้อง แม้กระทั่งเรียกร้องบางอย่างจากแบรนด์สินค้า หลายคนพร้อมทำโดยไม่แคร์ว่าจะถูกมองสะท้อนว่าเป็นคนอย่างไร และเราสามารถพบเห็นสิ่งเหล่านี้ได้แบบรายวัน แทบจะทุกชั่วโมง วันนี้สังคมไทยกำลังเกิดอะไรขึ้น ?

ยกระดับ “คำหยาบ” จากโซเชียลสู่ชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้ตัว

ต้องยอมรับว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ทำให้การแสดงออกเรียกร้องของมนุษย์ทำได้ง่ายขึ้นด้วยตนเอง ณ Now แต่โลกออนไลน์ก็มีข้อเสียอีกด้านคือ ”ไม่มีใครกำกับคัดกรอง” ทุกคนสามารถใส่ความเห็นลงไป ก้าวร้าวรุนแรงแค่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องระบุตัวตนที่แท้จริง ไม่ต้องเผชิญหน้าคู่กรณี ทั้งยังไม่มีกติกา ไม่มีการคัดกรองที่ชัดเจนเรื่องความถูกผิดเหมาะสม หรือ มารยาททางสังคมที่ควรจะมี ดังนั้นเราจึงเห็นคำหยาบคาย ก้าวร้าวรุนแรง กระจายว่อนเกลื่อนตา

ในยุคก่อนที่สมาร์ทโฟน และ โซเชียลมีเดียจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์นั้น สื่อโทรทัศน์ถือว่ามีอิทธิพลสูงสุดต่อสังคมจะมีการสกรีนคำหยาบเคร่งครัด คำว่า “กู” “มึง” หรือ คำสบถ ซึ่งเป็นภาษาพูดที่หลายคนใช้กันเป็นปกติจะถูกเซนเซอร์ดูดเสียงออก ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นตัวอย่างไม่ดีต่อสังคม จึงเป็นเสมือนการกำกับชี้นำไปในตัวว่า ความหยาบคาย ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในพื้นที่สื่อสาธารณะของสังคม

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย เราจะพบได้ว่ารายการออนไลน์ การไลฟ์สดของ influencer หรือ Net idol หลายราย นิยมพูดคำด่าคำ คำสบถเกี่ยวกับ บิดา มารดา สัตว์เลื้อยคลาน อวัยวะ หรือ ดอกไม้ ฯลฯ ถูกปล่อยออกมาเพื่อสร้างตัวตน เรียกกระแสความสะใจ ปั่นยอดผู้ติดตาม ซึ่งเพจหน้าใหม่หลายรายใช้กันมากขึ้นจนค่อยๆ ซึมซับเข้าสู่ชีวิตประจำวันผู้รับสารแบบไม่รู้ตัว อาทิ คำว่า กู มึง ที่เดิมถูกจำกัดเฉพาะในวงเพื่อนสนิทคนรู้จัก ก็อาจถูกขยายวงไปสู่การโพสต์ด่าทอเมื่อไม่ชอบใจ หมั่นไส้ใครก็ฟาดใส่เลยโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ นำมาสู่การฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท – พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวนมาก

และปัจจุบันเราจะเริ่มพบเห็นการปล่อยคำหยาบในรายการโทรทัศน์ หรือ ซีรี่ย์มากขึ้น หากไม่ได้เป็นคำรุนแรงนัก มักเป็นคำว่า “กู” “มึง” เสียมากกว่า (ยกเว้น “ไอ้สั..” วลีเด็ดของน้าค่อมไว้สักคำหนึ่ง 55)  ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้ถือว่าหยาบคายจนรับไม่ได้เพราเป็นคำที่ใช้แทนตน ไม่ได้รุนแรงในลักษณะ bully เหยียดหยาม ข่มเหง

อย่างไรก็ตามคำหยาบเริ่มค่อยๆ ถูกยกระดับใช้ในสื่อมาตั้งแต่ช่วงที่ปล่อยให้มีการผลิตเคเบิ้ลทีวี หรือ วิทยุชุมชน โดยเฉพาะรายการเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งอาจมีเล็ดรอดสายตาหน่วยงานผู้รับผิดชอบบ้าง

ทั้งนี้ สาเหตุของความหยาบคายบนโลกออนไลน์ ถูกพูดถึงไว้อย่างน่าสนใจในบทความ ความหยาบคายร้ายกว่าที่คิด ของคุณวิทยา ด่านธำรงกูล คอลัมน์ทัศนะจากผู้อ่าน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ว่า

“ความหยาบคายบนไซเบอร์นับวันจะมากขึ้น สาเหตุสำคัญคือบนโลกเสมือนนี้ไม่มีเส้นแบ่งหรือกติกาที่ต้องระมัดระวังเหมือนในชีวิตจริง ปกติคนเราสื่อสารกันจะคำนึงว่าเราอยู่ท่ามกลางคนกลุ่มไหน และในสถานที่ใด ถ้าเราอยู่ในผับ การสื่อสารย่อมไม่เหมือนในที่ประชุมบริษัท หรือ ถ้าเราอยู่กับพ่อแม่ เราย่อมสื่อสารไม่เหมือนอยู่กับเพื่อน “ผู้คน” และ “สถานที่” จึงเป็นสิ่งกำกับพฤติกรรมในการแสดงออกของคน แต่ในโลกไซเบอร์ไม่มีบริบทเหล่านี้เป็นเครื่องกำกับ การสื่อสารที่เกินเลยจึงเกิดขึ้นเสมอ คนจำนวนมากยังเข้าใจไปด้วยว่าพื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ของตัวเอง เมื่อฉันเป็นเจ้าของฉันจึงมีสิทธิอาละวาดฟาดใครๆ ได้เต็มที่”

เพราะไม่หยาบคายโลกไม่จำ?

คุณวิทยา ระบุเพิ่มว่า ข้อเขียนของ Danny Wallace ในหนังสือ “ความจริงเหลือเชื่อที่ทำให้คนหยาบคาย” บอกว่ายุคนี้คนเราชอบแสดงความเห็นกับทุกๆ เรื่อง ทุกๆ ที่ และทุกๆ เวลา แล้วถ้าจะให้คนสนใจความเห็นของตัวเองก็ต้องทำให้กระแทกใจมากๆ จึงต้องแสดงความเห็นให้รุนแรงให้หยาบคายแบบสุดขั้ว ไม่งั้นโลกไม่จำ ความหยาบคายส่วนหนึ่งจึงมาจากความพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจในท่ามกลางข้อความ หรือ ข่าวสารที่มากมายบนโลกออนไลน์นั่นเอง”

ผู้ที่การใช้ถ้อยคำหยาบคายบ่อยๆ อาจสะสมเป็นความเครียด ความรุนแรงไว้ในตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อคนรอบข้างด้วย

ทั้งนี้การจะสร้างตัวตน หรือ เรียกร้องให้คนสนใจ ไม่ว่าในชีวิตจริง หรือ โลกออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องใช้ความหยาบคายเสมอไป ถ้าแสดงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาอย่างถูกวิธี ดังเห็นได้ว่าคนดังหลายราย อาทิ คุณเอ้ เพจ Botcash ที่มีคาแรคเตอร์สุภาพ ไม่หยาบคาย ก้าวร้าวรุนแรง ก็เป็นที่ยอมรับในวงกว้างด้วยฝีมือ

แม้บางคนอาจบอกว่า นี่คือการแสดงตัวตนของฉัน แบบตรงๆ ไม่ประดิษฐ์ แต่อยากให้ฉุกคิดสักนิดว่า ตอนนี้เราทุกคนล้วนมี Digital footprint ของตนเองอยู่บนโลกออนไลน์ ใครก็ตามสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทุกเมื่อ ความหยาบคายก้าวร้าวที่แสดงออกมาแม้อาจไม่ส่งผลวันนี้ แต่ใครจะรู้ว่าอนาคตอาจถูกขุดคุ้ยกลับมาเป็นตราบาปทำลายชื่อเสียง ทำลายอาชีพการงาน หรือ โอกาสดีๆ ของชีวิตก็เป็นได้เช่นที่คนดังหลายรายต้องเผชิญ

ควรตระหนักว่าแต่ละสังคมย่อมมีกรอบ หรือ บริบทการยอมรับมารยาททางสังคมที่ต่างกัน ในวงของเพื่อนสนิทที่คิดคล้ายกันอาจรับได้ แต่เมื่อออกไปในวงอื่นที่กว้างขึ้นบริบทก็จะต่างกันไปด้วย และไม่ว่าจะเป็นสังคมใดก็ตาม first impression ของสุภาพชนย่อมน่าคบหาพูดคุยมากกว่าคนหยาบคายก้าวร้าวอยู่ดี

การสร้างตัวตน หรือ เรียกร้องความสนใจ ด้วยความหยาบคายก็เหมือนผลไม้พิษ กัดคำแรกอาจหวานหอมเป็นที่สนใจชั่วขณะ แต่สุดท้ายพิษของมันจะค่อยๆ สะสมพอกพูนกลับมาทำร้ายตนเองในที่สุด

 

kinyupen