ห่วง “มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร” เสี่ยงภัยเพราะแข่งกับเวลา

0
380
kinyupen

ธุรกิจที่รุ่งเรืองในยุค New normal นี้ คงไม่พ้นธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และด้วยผู้คนออกไปข้างนอกน้อยลง พากันกักตัวอยู่บ้านเพื่อลดเสี่ยงกับโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจขนส่งมาแรงขึ้นไปอีก

 

ผู้ส่งอาหารถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุเพราะต้องแข่งกับเวลา ทำให้ต้องใช้ความเร็วขับขี่ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตอยากให้ไรเดอร์ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทั้งหลายระมัดระวังไว้ เพื่อความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยกันเอง

 

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กิจการส่งอาหารที่เรียกว่า Food Delivery เติบโตอย่างรวดเร็ว เท่าที่ทราบปัจจุบัน มีคนที่เข้าสู่ระบบธุรกิจนี้มากกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายหลักๆ บางยี่ห้อมีพนักงานอยู่มากกว่า 120,000 ราย ทั่วประเทศ

 

ผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่รถจักรยานยนต์ปลอดภัย กล่าวว่า จริงอยู่ที่ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร เป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและ นำความกังวล คือ ผู้ให้บริการในธุรกิจนี้กว่า 70 % คือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งจากการที่โครงการได้ทำ Web Surveillance พบว่า รถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย หลายรุ่น มีสเปคที่ต่ำกว่ารถจักรยานยนต์ซึ่งจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ ประเทศผู้ผลิตอย่างเช่น ญี่ปุ่น ฯลฯ

 

“ถ้าดูจากสถิติ จะเห็นว่า อัตราการตายที่เฉลี่ย 35 นาทีต่อ 1 คน ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ยังคงสถิติเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แต่ในระยะหหลังๆ มานี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เฉี่ยว ชน เป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือ กลุ่มธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ Food Delivery

พญ.ชไมพันธุ์ กล่าว

 

และทางโครงการจึงอยากเสนอให้บริษัทหรือผู้ประกอบการธุรกิจจัดส่งอาหาร หรือ แม้แต่จัดส่งเอกสาร ได้มีการอบรมพนักงานในเรื่องการขับขี่มอเตอร์ไซค์ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อลดความสูญเสีย ข้อจำกัดของพนักงานเหล่านี้ คือ ทำงานแข่งกับเวลา ทำให้ต้องใช้ความเร็วในการขับขี่ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่การระบาดของโควิด 19 กำลังวิกฤต คนส่วนใหญ่ ทำงานที่บ้าน และใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น แต่คนที่ต้องทำงานนอกบ้าน คือ พนักงานที่จัดส่งอาหาร ที่นอกจากจะต้องเสี่ยงกับโควิด 19 ไม่ต่างกับทุกคนแล้ว ยังต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

 

รายงานจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่าจำนวนการสั่งอาหารที่ในปี 2563 มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 78.0% ถึง 84.0% เช่นเดียวกับจำนวนแพลตฟอร์มของธุรกิจจัดส่งอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10 ราย ในช่วงเวลาไม่นาน

ยังไม่รวมธุรกิจรับส่งพัสดุ ที่เกิดจากพฤติกรรม และ ความนิยมซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ในช่วงที่ร้านค้า และ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ กำลังถูก Disrupt ให้ต้องปรับตัวเอง ไปสู่รูปแบบการขายสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

 

“โครงการเราพยายามที่จะนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาหลายอย่างของรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสเปค ที่ถ้าไปดูก็จะเห็นชัดว่า มอเตอร์ไซค์บ้านเราล้อกว้างแต่ยางแคบ เช่น วงล้อ 17 นิ้ว หน้ายาง 50-80 มม.การเกาะถนนจึงต่ำ เสียหลักได้ง่าย เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และยังเปิดช่องให้มีการดัดแปลง แต่งซิ่ง ได้ง่าย และวันนี้ ถ้าเราต้องใช้มอเตอร์ไซค์ในการทำงาน ทำเงิน ต้องอยู่กับรถสองล้อคันนี้ทั้งวัน บางคนควงกะถึงกลางคืนด้วย ก็เป็นเรื่องน่าห่วง” พญ.ชไมพันธ์ กล่าว

 

อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการ ให้ข้อมูลว่า จากการค้นหาข่าวอุบัติเหตุของกลุ่มคนที่ทำงาน food delivery พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของ ธุรกิจส่งอาหาร มีอยู่ 2แบบ คือ ผู้ขับขี่ขับรถโดยประมาท เช่น ขับเร็ว ขับปาดซ้ายขวา ซึ่งก็เป็นไปได้เรื่องทำงานแข่งกับเวลา กับแบบที่สอง คือ เกิดจากสิ่งรอบข้าง เช่น มีรถปาดหน้า เบรกกะทันทัน หรือถนนชำรุด

 

“เท่าที่ศึกษาข้อมูล ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ส่งอาหารมักจะขับเร็ว ทำให้มีมุมมองด้านข้างลดลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วิ่งเร็วและเบรกกะทันหันทำให้เสียหลักเป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิต” พญ.ชไมพันธุ์ กล่าวในที่สุด

 

kinyupen