วันสารทจีน VS วันสารทไทย ต่างกันอย่างไร?

0
915
kinyupen

ใกล้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจีนปีนี้ จะตรงกับวัน อาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม 2564 หรือวันที่ใครหลายๆ คนรู้จักและเรียกกันว่าวันสารทจีน วันสารทจีนถือเป็นอีกวันหนึ่งที่เหล่าคนไทยเชื้อสายจีนจะต้องเตรียมตัวออกจากบ้าน จับจ่ายซื้อของเพื่อนำมาไหว้บรรพบุรุษ แล้วคนไทยที่ไม่มีเชื้อสายจีน เขานับถือวันสารทไทยเป็นวันเดียวกันรึเปล่า?

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงพาทุกคนมาหาคำตอบเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง “วันสารทจีน” กับ “วันสารทไทย” ว่าทั้งสองวันนี้มีที่มา เรื่องราวความเชื่อ ของไหว้ และการปฏิบัติต่างกันมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่ทุกคนจะได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาถึงวัฒนธรรม ประเพณีที่ครอบครัวถือปฏิบัติกันมา

 

วันสารทจีน และ วันสารทไทยไม่ใช่วันเดียวกัน

มาว่ากันเรื่องของวันอันดับแรก หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าวันสารทจีนและวันสารทไทยคือวันเดียวกัน จริงๆ แล้ววันสารทจีนคือวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ในทุกๆ ปีเราต้องตรวจสอบปฏิทินจีน ว่าวันดังกล่าวจะตรงกับวันไหนของปฏิทินไทยปกติแล้ว วันสารทจีน ก็จะอยู่ราวๆ เดือน 7 และ 8 นั่นเอง ส่วนวันสารทไทยหรือเรียกอีกชื่อว่า “วันสารทเดือนสิบ” จะตรงกับวัน แรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรืออยู่ราวๆ เดือน 9 และ 10 ถ้าเทียบกันในปีนี้ วันสารทไทยคือวันที่ 5 ตุลาคม 2564 จะเห็นได้ว่าแค่วันและเดือนก็ต่างกันแล้ว แน่นอนว่าความเป็นมา และวิธีการไหว้ต้องต่างกันแน่นอน

ก่อนจะเข้าถึงตำนานของทั้ง 2 วัน เรามาพูดถึงคำว่า “สารท” ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน คำว่าสารทในภาษาไทย อ้างอิงจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สารท หรือ ฤดูใบไม้ร่วง จะพบในแถบประเทศเขตอบอุ่นทางซีกโลกเหนือ ยุโรป จีน อิเดียตอนเหนือ นั่นเอง ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นที่มาของคำว่า “สารท” ทั้ง 2 วันถ้าเรียกสมัยนี้ก็คือคำว่า ฤดู

 

วันสารทจีน และ วันสารทไทยคือวันไหว้ผีบรรพชน

ทุกคนเข้าใจถูกแล้ว สาเหตุหลักของทั้ง2 วันมีจุดประสงค์ที่คล้ายกันคือ การไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะตามตำนานและความเชื่อของทั้ง 2 วันเชื่อกันว่า ในวันนั้นประตูนรก สวรรค์จะเปิดให้ ผีบรรพบุรุษ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วมีโอกาสกลับมาหา ญาติที่มีชีวิตอยู่ แต่ต่างกันตรงที่

วันสารทไทย จะเชื่อว่าการกลับมาของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเปรียบเหมือนกลับมารับบุญ รับกุศล ที่คนมีชีวิตทำเผื่อ เพื่อที่จะให้ญาติที่ล่วงลับหมดหนี้กรรมและไปเกิดในที่สุด

วันสารทจีน เชื่อว่าการกลับมาของบรรพบุรุษคือการกลับมาเยี่ยมลูกหลานและเป็นการส่งเสริมความกตัญญูของลูกหลานให้นึกถึงบรรพบุรุษ หรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเสมอ จะสังเกตได้จากการเผาข้าวของเครื่องใช้จากโลกปัจจุบันส่งไปยังโลกวิญญาณ

 

พิธีกรรม กิจกรรม ของไหว้ ต่างกันลิบลับ

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งของวัน สารทจีน และ วันสารทไทย ก็คือพิธีการประกอบกิจกรรม ซึ่งทั้ง2 วันก็จะมีความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตัวเอง

วิธีไหว้วันสารทจีนแบ่งออกเป็น 3 ชุด

  1. ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่ ส่วนใหญ่จะ แล้วแต่บ้านที่สะดวกทั้งของคาวและของหวาน ขนมที่ใช้ไหว้ ก็จะมี ขนมถ้วยฟู กุยช่าย ขนมเทียน ขนมเข่ง ซึ่งต้องแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง เพราะชาวจีนมีความเชื่อว่า สีแดงเป็นสีแห่งความมงคล นอกจากนั้นก็มีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน และกระดาษเงินกระดาษทอง
  2. ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ คล้ายของไหว้เจ้าที่แต่จะแตกต่างกันตรงที่กับข้าวส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่บรรพบุรุษชอบ พร้อมข้าว น้ำชา วางบนโต๊ะ บางบ้านก็จะไหว้พร้อมกระดาษเงินกระดาษทองเช่นกัน
  3. ชุดสำหรับไหว้วิญญาณเร่ร่อน หรือสัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนหรือสัมภเวสีคนจีนเรียกว่า เรียกว่า “ไป๊ฮ้อเฮียตี๋” แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน จะไหว้นอกบ้าน ของไหว้จะมีทั้งคาวหวานและผลไม้ตามต้องการ และที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้

เมื่อไหว้เสร็จแล้วแต่ละบ้านก็จะมีการ เผากระดาษเงินกระดาษทอง ส่งไปให้บรรพบุรุษ บางบ้านเชื่อว่ายิ่งส่งไปให้บรรพบุรุษมากจะหมายความว่าบอกให้บรรพบุรุษได้รับรู้ว่าญาติพี่น้องอยู่ดีกินดีสุขสบาย หรือบางบ้านเชื่อว่าส่งให้บรรพบุรุษมากเท่าไหร่เราก็จะได้เงินได้ทองกลับมาเป็นร้อยเท่าพันเท่า

 

วิธีไหว้วันสารทไทย

หลักๆ แล้ววันสารทไทย คือการนำข้าวปลาอาหาร และที่สำคัญคือ ขนมกระยาสารท ไปตักบาตรทำบุญที่วัดของที่นำไปตักบาตรก็จะ แล้วแต่ความชอบของบรรพบุรุษหรือความสะดวกของแต่ละบ้าน เพราะเชื่อว่าการไปตักบาตรคือเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว

การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ภาคกลาง เรียกว่า “สารทไทย”
  • ภาคเหนือ เรียก “งานทานสลากภัต” หรือ “ตานก๋วยสลาก”
  • ภาคอีสาน เรียก “ทำบุญข้าวสาก”
  • ภาคใต้ เรียก “งานบุญเดือนสิบ” หรือ “ประเพณีชิงเปรต”

การทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การทำบุญกลางปี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงครึ่งปีแล้ว

 

ซึ่งเราก็จะพบจุดประสงค์โดยตรงของทั้ง 2 เลยก็คือการนึกถึงและกตัญญูต่อบรพบุรุษ ผู้มีพระคุณ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทุกคนอาจมองไม่เห็นคือการได้พบปะกับเหล่าญาติมิตรตระกูลเดียวกัน ได้ถามไถ่สารทุกข์ สุก ดิบ กันเหมือนเป็นการอัปเดตเรื่องราวชีวิตของญาติมิตร และให้ลูกหลานได้เจอได้รู้จักกัน เผื่อวันข้างหน้าต้องพึ่งพากันยามยาก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ไทยรัฐ ออนไลน์

Kapook.com

kinyupen