รู้ทัน “อาหารเสริม” แบบไหนไม่โฆษณาเกินจริง

0
774
kinyupen

หลายคนที่ใช้อาหารเสริมเป็นตัวช่วย หวังให้สุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น พอพบข่าวกาละแมร์ก็เริ่มสับสนกันใหญ่แล้วว่า ตกลงอาหารเสริมช่วยอะไรกันแน่ สรรพคุณต่างๆ ที่เขาภูมิใจนำเสนอมันเป็นไปได้หรือไม่? กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาคุณทำความเข้าใจกับอาหารเสริมใหม่ และเช็กชัวร์ก่อนซื้ออาหารเสริมกันก่อน

 

ควรกินอาหารเสริมไหม?

“อาหารเสริม” หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ ‘เสริม’ และไว้ใช้กิน เพื่อเสริมจากอาหารที่กินอยู่แล้ว ถ้าเรากินอาหารดี ถูกหลักโภชนาการอยู่แล้วอาหารเสริมก็ไม่จำเป็น กินได้แล้วแต่ชอบ ในปริมาณที่พอเหมาะไม่ให้สะสมในร่างกาย

 

อาหารเสริมไม่ใช่ยา ใช่ว่ากินแล้วจะรักษาโรคอะไรบางอย่างได้ แต่ปัจจุบันอาหารเสริมตามท้องตลาดกลับพบแต่อวดสรรพคุณทางยา

หากอาหารเสริมนั้นๆ อวดอ้างสรรพคุณเรื่องการรักษาโรค เช่น บำบัดรักษา ป้องกันโรคได้หายขาด รักษาโรคครอบจักรวาล รักษาโรคเรื้อรัง โรคร้ายแรงได้ มะเร็งหาย เสริมสมรรถภาพทางเพศ และ สรรพคุณทางเวชสำอาง เช่น อกฟูรูฟิต ทำให้ผิวขาวขึ้น ลดความอ้วน ลดไขมันส่วนเกิน ระงับกลิ่น หน้าอกเต่งตึง ลามไปถึงอ้างว่าทดแทนศัลยกรรมได้ หน้ายก เหนียงหาย ตาเป็น 2 ชั้น ฯลฯ แบบนี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงและผิดกฎหมาย

 

 

แม้มีเครื่องหมาย อย. ก็ผิดเรื่องโฆษณาเกินจริงได้

สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) ระบุว่า

  • เครื่องหมาย อย.
  • เลขสารบบอาหาร และเลขทะเบียนยา
  • เลขที่ใบรับแจ้ง

เป็นการยืนยันอนุญาตผลิตภัณฑ์ ไม่ได้เป็นการแจ้งว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการอนุญาตให้โฆษณาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์ต้องดูที่ “เลขที่อนุญาตโฆษณา”

 

 

เช็กชัวร์ ก่อนซื้ออาหารเสริม

อย. เปิดระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณา ให้ประชาชนตรวจสอบการอนุญาตโฆษณาเบื้องต้นได้แล้วที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หัวข้อ “สืบค้นข้อมูลใบอนุญาตโฆษณา” เพื่อเข้าตรวจสอบเลขอนุญาตโฆษณาเบื้องต้น

โฆษณาเกินจริงไม่ได้เพิ่งเกิด

100+ Podcast EP10 : เขียนภาพความกลัว 2 (นาทีที่ 14.55) ได้กล่าวถึงกรณีศึกษาหนึ่งประมาณปี ค.ศ.1985 ที่มีการโฆษณายาลดคอเลสเตอรอล (นาทีที่ 14.55) เมื่องานวิจัยหัวหมอสร้างข้อมูลเกินจริงมาเพื่อมาใช้ในการตลาด งานวิจัยบางอย่าง มาตรช่าง ตวง วัด ถูกเบี่ยงเบนด้วยผลประโยชน์ เพื่อเงินตราและอำนาจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้มนุษย์ไขว้เขวกับความเป็นจริงได้ ทำให้เกิดผลของสุขภาพของคนในช่วง 50-200 ปีที่ผ่านมา

 

สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ ก่อนซื้ออาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ควรตั้งสติแยกแยะความเป็นจริง อ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนซื้อ (หากซื้อออนไลน์อาจขอรูปฉลากจากแม่ค้า) การศึกษาข้อมูลให้เพียงพอคือสิ่งสำคัญ ผู้ไม่รู้มักเป็นเหยื่อ..อย่าให้ใครเอาเปรียบเราได้

 

“โฆษณาเกินจริง และเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ถือว่าเอาเปรียบผู้บริโภค “

หากพบโฆษณาเกินจริง สามารถโทรแจ้ง อย. 1556 และ กสทช. Call Center 1200

 

ขอบคุณข้อมูล

kinyupen