ยีนมนุษย์โบราณ ชี้เป็นชี้ตายคนปัจจุบันจากโรคโควิด-19

0
539
kinyupen

เป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไมบางคน ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ บางคนถึงขั้นเข้าไอซียู มีเสียชีวิตบ้าง แต่ไม่เป็นอะไรเลยก็มาก เราอาจรู้อยู่แล้ว ว่ามีหลายปัจจัยตามที่นักวิชาการได้ให้คำอธิบายมาอย่างหลากหลาย เช่น ภาวะผู้สูงอายุ โรคประจำตัว ความแข็งแรงของสุขภาพโดยทั่วไป ฯลฯ

 

แต่มีสิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าคือมีสาเหตุการเกิดโรคโควิด-19 บางส่วนมาจาก ยีนที่สืบทอดมาจาก มนุษย์โบราณ (archaic human) พันธุ์หนึ่ง คือ นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 40,000 ปีก่อน วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตนำเรื่องน่าฉงนใจนี้จากกรุงเทพธุรกิจมาแชร์ให้ฟัง

 

ขอลำดับความเป็นมาของนีแอนเดอร์ทัล ดังนี้

  1. โลกของเรามีอายุ 4,500 ล้านปี
  2. เผ่าพันธุ์มนุษย์กับลิงชิมแปนซี แยกขาดจากกันเมื่อ 6 ล้านปีก่อน
  3. เมื่อ 2-5 ล้านปีก่อนได้เกิดการพัฒนา genus (สกุล) Homo (archaic human) ขึ้นคือกลุ่มที่มีลักษณะและหน้าตาคล้ายมนุษย์ขึ้นในแอฟริกาและต่อมาใน Eurasia (อัฟกานิสถาน อาร์มิเนีย เบลารุส จอร์เจีย ฯลฯ) และตะวันออกกลาง (กลุ่มอาหรับ)
  4. โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ของเราเริ่มปรากฏตัวเมื่อ 150,000-200,000 ปีก่อนในแอฟริกา โดยมีหน้าตาและร่างกายเหมือนมนุษย์ในปัจจุบัน

 

สกุล Homo มีด้วยกันหลายเผ่าพันธุ์ เช่น Homo rudolfensis/Homo soloensis/Homo floresiensis/Homo erectus/Homo neanderthalensis (เรียกสั้นๆ ว่า Neanderthal) /Homo sapiens ฯลฯ สกุลนี้สูญพันธุ์ไปจนหมดเหลือแต่เผ่าพันธุ์ของเรา

 

นีแอนเดอร์ทัลสูญพันธุ์เมื่อ 40,000 ปีก่อน และสุดท้ายคือ Homo floresiensis เมื่อ 13,000 ปีก่อน โฮโมเซเปียนส์ได้กระจายไปทวีปอื่นๆ ในช่วงเวลา 70,000 ปีที่ผ่านมา และเมื่อ 12,000 ปีก่อนก็เริ่มรู้จักเอาพืชและสัตว์ป่า มาใช้งาน และจุดเปลี่ยนของการครองโลก ของเผ่าพันธุ์เราก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง

 

โฮโมเซเปียนส์และนีแอนเดอร์ทัล มีการผสมข้ามพันธุ์กันจนมีการพบว่า 2% ของ ดีเอ็นเอของคนที่อยู่อาศัยในยุโรปและเอเชียปัจจุบันมีที่มาจากนีแอนเดอร์ทัล

 

ดีเอ็นเอของมนุษย์ (โฮโมเซเปียนส์)

ในแต่ละเซลล์ประกอบด้วย 46 โครโมโซม (2 คู่ของโครโมโซม 23 ตัว) แต่ละโครโมโซมมียีนอยู่นับเป็นพันๆ และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วมีรวมประมาณ 30,000 ยีน ซึ่งบรรจุข้อมูลทั้งหมดรวมกันประมาณ 3 พันล้านข้อมูลบนดีเอ็นเอ ซึ่งมีความยาวประมาณ 1.3 เมตร

ดีเอ็นเอเปรียบเสมือนคำสั่งให้ร่างกายทำงาน ยีนแต่ละตัวบนแต่ละโครโมโซมมีหน้าที่เฉพาะตัว ปัจจุบันมนุษย์สามารถทำ “แผนที่ดีเอ็นเอ” ได้ในระดับหนึ่ง กล่าวคือพอรู้ว่ายีนแต่ละตัวที่ปรากฏบนโครโมโซมตัวใดมีหน้าที่อย่างไร

 

สิ่งน่าตื่นเต้นในเรื่องโควิด-19 ที่ค้นพบเกี่ยวกับยีนก็คือ ยีนนีแอนเดอร์ทัลบางตัวที่มนุษย์บางคนมีนั้น ทำให้มีความเสี่ยงในการมีอาการรุนแรงหากเกิดติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น และล่าสุดพบยีนอีกตัวของนีแอนเดอร์ทัลที่มีผลในทางตรงกันข้าม กล่าวคือทำให้เกิดการคุ้มครองไม่ให้มีอาการรุนแรง

 

หากบางคนโชคร้ายมียีนชนิดแรก 2 ตัวก็จะมีความเสี่ยงยิ่งขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว

นักวิจัยพบว่าผู้มีเชื้อสายอินเดียนใต้ (อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน) ครึ่งหนึ่งมี “ยีนโชคร้าย” ตัวนี้อยู่ (พบใน 63% ของชาวบังกลาเทศ) สำหรับคนยุโรปนั้นพบใน 16% ของประชากร แทบไม่พบเลยในประชากรแถบเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และไม่พบเลยในประชากรในทวีปแอฟริกา (นีแอนเดอร์ทัลไม่เคยอยู่อาศัยในแอฟริกา)

 

อย่างไรก็ดี ในการศึกษาล่าสุดจากทีมวิจัยเดียวกันพบว่ามี “ยีนโชคดี” จากนีแอนเดอร์ทัล ในดีเอ็นเอของมนุษย์ด้วย หากใครมีหนึ่งตัวก็ลดความเสี่ยงที่จะต้องนอนไอซียูไป 22% นักวิจัยเชื่อว่ามนุษย์ประมาณครึ่งโลกที่อยู่นอกทวีปแอฟริกามียีนตัวนี้

 

ไม่น่าเชื่อว่าพันธุกรรมจากมนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไป 40,000 กว่าปีสามารถมีอิทธิพลต่อความเป็นความตายของคนในปัจจุบันเมื่อติดเชื้อโควิด เผ่าพันธุ์มนุษย์ของเรา (sapiens แปลว่า ฉลาด) อพยพออกมา จากแอฟริกาในบริเวณประเทศเอธิโอเปียปัจจุบัน เป็นกลุ่มเล็กๆ และเดินทางไปทั่ว คาดว่าพบกับนีแอนเดอร์ทัลซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณตะวันออกกลาง (ประเทศอิสราเอล อิรัก ซีเรีย เลบานอน บริเวณปาเลสไตน์ในปัจจุบัน) เมื่อประมาณ 60,000 ปีก่อน และมีลูกด้วยกัน (ไม่รู้ว่ามีอุปสรรคของชีวิตรักมากไหม)

เมื่อโฮโมเซเปียนส์เดินทางจากตะวันออกกลางกระจายไปทั่วโลก จึงนำยีนของนีแอนเดอร์ทัลติดตัวไปด้วยจนมีอยู่ 2% ใน ดีเอ็นเอของมนุษย์ปัจจุบัน

 

แน่นอนว่ายีนจากนีแอนเดอร์ทัลมิใช่ปัจจัยเดียวที่อธิบายความแตกต่างระหว่างการมีอาการเจ็บป่วยบ้าง (81%) การมีอาการหนัก (14%) และการมีอาการหนักมาก (5%) ของมนุษย์เมื่อติดเชื้อ แต่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับการเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชื้อ SARS-CoV-2 กับร่างกายของเราเพื่อการค้นหายารักษา เพื่อการพัฒนาวัคซีน เพื่อการดูแลรักษาพยาบาลตลอดจนให้คำแนะนำแก่ผู้มีความเสี่ยงสูง ฯลฯ

 

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าในเรื่องการตายจากโควิด-19 ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 2% นั้น comorbidities หรือโรคป่วยไข้อื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวานชนิด 2 (มิได้เกิดจากกรรมพันธุ์) ฯลฯ เป็นปัจจัยประกอบโดยปัจจัยที่สำคัญมากคืออายุ (จาก The Economist, March 13th 2021)

 

สำหรับผู้สูงอายุที่สงสัยว่าอาจมี “ยีนโชคร้าย” และมีอาการป่วยไข้อื่นๆ ประกอบพึงระวังเป็นพิเศษ การได้รับวัคซีน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยังต้องใส่หน้ากากอนามัย-รักษาระยะห่าง-ล้างมือบ่อยอยู่ (บัดนี้ได้กลายเป็นคำแนะนำสากลไปแล้ว) เพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย

การจัดการความเสี่ยงเป็นเรื่องของสติ ศาสตร์และศิลป์ที่ต้องฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ

 

กินอยู่เป็นขอขอบคุณที่มาจาก

วรากรณ์ สามโกเศศ, “ยีนมนุษย์โบราณกับโควิด,” กรุงเทพธุรกิจ (23 มีนาคม 2564) : 6.

kinyupen