เที่ยวท่องตำนาน ปีละครั้ง ณ “พระราชวังเดิม” ตามรอยประวัติศาสตร์สมัยปลายกรุงธนบุรี

0
701
kinyupen
  • พระราชวังเดิม คือ พระราชวังหลวงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ
  • เคยเป็นที่ประทับขององค์รัชทายาทแห่งราชวงศ์จักรี สมัยรัชกาลที่ 1- 5 และเป็นที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 3) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) รวมถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ค้นพบหลักฐานอ้างอิงว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินถูกประหารบริเวณหน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์ภายในพระราชวังเดิม

 

หากจะกล่าวว่า “พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม” เป็นอีกหนึ่งโบราณสถานที่มีบทบาทมากในช่วงรอยต่อสำคัญทางประวัติศาสตร์ นั่นก็คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปนัก ด้วยเคยเป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่สถาปนาขึ้นหลังทรงกอบกู้เอกราชสำเร็จ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต…….

 

พระองค์ทรงเลือกพื้นที่ที่เคยเป็นจวนเจ้าเมืองบางกอกเดิมในสมัยอยุธยามาเป็นที่ตั้ง ด้วยความโดดเด่นเชิงยุทธศาสตร์เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ มีป้อมปราการมั่นคงสามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกลและอยู่ใกล้กับเส้นทางเดินเรือสำคัญในยุคนั้น

 

โดยมีการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พระองค์ทรงสร้างพระราชวังกรุงธนบุรีเพื่อใช้งานชั่วคราว และตั้งใจจะย้ายพระราชวังมายังฝั่งตะวันออกอยู่แล้ว หากไม่ทันได้ย้ายก็เกิดการสถาปนาราชวงศ์ใหม่เสียก่อน

 

ปัจจุบัน “พระราชวังเดิม” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกองบัญชาการกองทัพเรือ ภายในบริเวณพระราชวังเดิมจะมีสถานที่สำคัญให้ชมมากมาย ได้แก่ ท้องพระโรง, พระตำหนักเก๋งคู่, พระตำหนักเก๋งพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, อาคารเรือนเขียว, ศาลศีรษะปลาวาฬ และป้อมวิไชยประสิทธิ์

 

ทั้งนี้ทุกช่วงวันสถาปนาสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานภายในพระราชวังเดิมร่วมกับกองบัญชาการกองทัพเรือ จะเปิดพระราชวังเดิมแห่งนี้ให้ผู้สนใจเข้าชมฟรี ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30 น. โดยปีนี้จะเปิดถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ซึ่งตามปกติผู้ต้องการเยี่ยมชมต้องทำเรื่องขออนุญาตเข้าชมเป็นหมู่คณะล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์

 

โอกาสดีๆ แบบนี้มีหรือที่ “กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต” จะพลาด ในวันนี้เราจึงขอนำสิ่งน่าสนใจภายในพระราชวังเดิมที่ทีมงานได้ไปสัมผัสผ่านสายตา รวมถึงบันทึกต่างๆ ที่มีการร้อยเรียงเรื่องราวมาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้จินตนาการและย้อนภาพประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน

 

เที่ยวตามรอยอดีต

 

เมื่อมาเยี่ยมชมพระราชวังเดิม สิ่งแรกที่อยากแนะนำ คือ การสักการะขอพร “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน” ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหน้าทางเข้าอาณาเขตพระราชวังเดิม ถัดมาจะเป็นที่ตั้งของ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ชื่อเดิม ป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นโดยคอนสแตนตินฟอลคอน หรือ ออกญาวิไชยเยนทร์แห่งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อป้องกันการรุกรานจากกองเรือฮอลันดา ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงสร้างพระราชวังเดิมก็ทรงปรับปรุงป้อม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” ปัจจุบันใช้เป็นที่ยิงสลุตในพิธีสำคัญต่างๆ เป็นที่ติดตั้งเสาธงเพื่อประดับธงราชนาวี และธงผู้บัญชาการทหารเรือ

 

 

สมัยกรุงศรีอยุธยามีการสร้างป้อมอีกแห่งคู่กับป้อมวิไชยเยนทร์ ตั้งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำการขึงสายโซ่ขนาดใหญ่กั้นกลางแม่น้ำไม่ให้เรือใหญ่แล่นผ่าน แต่ป้อมแห่งนั้นถูกรื้อถอนในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา…อยากให้ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราอยู่ในสมัยนั้นป้อมนี้จะดูยิ่งใหญ่ขนาดไหน!

 

ประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่…หน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์

พบข้อสันนิษฐานเชิงประวัติศาสตร์น่าสนใจเกี่ยวกับป้อมวิไชยประสิทธิ์ว่า “นี่คือสถานที่ประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสิน” อ้างอิงข้อมูลจากบทความ : คำให้การ วันประหาร “พระเจ้าตาก” ฉากสุดท้ายกรุงธนบุรี โดยปรามินทร์ เครือทอง เผยแพร่นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552 ระบุว่า พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีเนื้อหาตอนหนึ่งที่เจ้าพระยาจักรีกล่าวถึงพระเจ้าตากสินว่า

 

“จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะถึงแก่พิราลัย”

 

 

สำหรับจุดที่ประหารชีวิตนั้น สันนิษฐานว่าตั้งอยู่บริเวณศาลเจ้าพ่อหนู ซึ่งเป็นศาลเพียงตาที่เคารพสักการะของเหล่าทหารเรือและผู้ที่ศรัทธา ตั้งอยู่ด้านหน้าป้อมวิไชยเยนทร์นั้นเอง…….

 

 

ท้องพระโรง ฐานบัญชาการสร้างบ้านแปลนเมือง

เมื่อเข้ามาอาณาเขตพระราชวังเดิม แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการรับชมวีดิทัศน์ความเป็นมาพระราชวังเดิม ณ เรือนเขียว ที่เคยเป็นอาคารพยาบาลเดิมของโรงเรียนนายเรือในอดีต แล้วไปไหว้สักการะศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและศาลศีรษะปลาวาฬที่ตั้งคู่กัน จากนั้นชมอาวุธยุทโธปกรณ์ ถ้วยชาม เครื่องดินเผาและสมบัติโบราณ ณ บริเวณอาคารเก๋งคู่หลังใหญ่และหลังเล็ก

 

 

อีกสองสถานที่ไม่ควรพลาด คือ “ท้องพระโรง” อาคารปลูกสร้างเดียวในสมัยกรุงธนบุรีที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน เดิมเป็นอาคารไม้แต่สันนิษฐานว่ามีการบูรณะเป็นอาคารปูนในสมัยที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นี่โดยบูรณะตามโครงสร้างที่มีมาแต่เดิม

 

ท้องพระโรงแห่งนี้ แม้ปัจจุบันว่างเปล่าหากจินตนาการไปในสมัยกรุงธนบุรีสถานที่นี้คือที่บัญชาการชี้เป็นชี้ตายในการวางแผนต่อสู้ข้าศึก รวมถึงการสร้างบ้านแปลนเมืองให้มั่นคงนั่นเอง

 

 

และปิดท้ายก่อนกลับด้วยการเข้าชม “อาคารเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่เคยใช้เป็นที่ประทับ ภายในรวบรวมนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ของพระองค์ไว้ที่นี่

 

พระราชวังเดิมแห่งนี้หลังการเปลี่ยนแผ่นดินจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับที่นี่ เนื่องจากพระราชวังเดิมและกรุงธนบุรีมีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลรักษา

และที่นี่เองก็เป็นที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทุกพระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขณะยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร)

 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้พระราชทานพื้นที่พระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานจากนายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พระยศในขณะนั้น) และหลังจากโรงเรียนนายเรือย้ายออกไปอยู่สัตหีบ และย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ กองทัพเรือก็ได้ใช้พระราชวังเดิมแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือมาจนถึงปัจจุบัน

 

พระราชวังเดิมถืออีกหนึ่งพื้นที่ที่อุดมด้วยเรื่องราวและคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งปกติการเข้าออกพื้นที่พระราชวังเดิมก็ทำได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้นถ้าใครที่เป็นคอประวัติศาสตร์ เมื่อโอกาสเปิดแบบนี้ปีละครั้งจะรออะไรล่ะ….เข้ามาเยี่ยมชมกันเลย โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม หรือโทร 0 2475 4117, 0 2472 7291

 

เกร็ดน่ารู้ : วัดสำคัญแผ่นดินธนบุรี

อาณาเขตของพระราชวังเดิมแต่ต้นนั้นจะครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองนครบาล โดยรวมพื้นที่ของวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้ามาไว้ในเขตพระราชวังด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงกำหนดเขตให้แคบกว่าเดิมโดยให้วัดทั้งสองอยู่ภายนอกพระราชวัง

ทั้งให้รื้อตำหนักแดงซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินไปปลูกสร้างเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ที่วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) ส่วนพระแท่นสำหรับพระเจ้าตากสินทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐานถูกนำไปตั้งไว้ที่ “โบสถ์น้อย” หน้าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม โดยพระแท่นนี้มีความเชื่อกันว่า “ถ้าใครได้ลอดใต้พระแท่นถือเป็นการล้างอาถรรพ์หนุนดวงเสริมบารมี”

 

ดังนั้นทั้ง 3 วัดนี้จึงถือว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพระเจ้าตากสินการก่อตั้งกรุงธนบุรีจนถึงช่วงการผลัดแผ่นดินเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ที่ต้องการไหว้พระขอพรสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดทั้ง 3 แห่งก็สามารถทำได้ครบภายในวันเดียว เพราะแต่ละวัดตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก

 

นอกจากนี้มีอีกหนึ่งวัดในระแวกนี้ที่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ วัดหงส์รัตนาราม ที่บุคคลสำคัญหลายท่านในยุคนี้เคารพนับถือ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า “ศาลพระเจ้าตากสินที่วัดแห่งนี้ คือ ศาลพระเจ้าตากสินแห่งแรกในประเทศไทย” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่เคารพสักการะสัมพันธ์กับตำนานที่ว่า

“หลังจากมีการประหารชีวิตพระเจ้าตากบริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ ก็มีหลวงจีนเดินนำขบวนพระบรมศพผ่านวัดหงส์ โดยมีอีกคนหนึ่งถือพานรองพระโลหิต ขณะเดียวกันเขาหันกลับไปมองยังโบสถ์วัดหงส์ ก็เห็นพระเจ้าตากยืนกอดอก ไม่มีหัว ทำให้ตกใจจนทำพานรองพระโลหิตหล่นจากมือ จากนั้นจึงมีการนำดินที่มีพระโลหิตพระเจ้าตากมาปั้นรูปพระองค์แล้วตั้งศาลพระเจ้าตาก ณ ตำแหน่งดังกล่าว โดยสร้างเป็นศาลไม้”

 

ตำแหน่งนั้นก็คือ “บริเวณต้นโพธิ์ด้านข้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ณ วัดหงส์รัตนาราม” ในปัจจุบันนั่นเอง

kinyupen