กักตัวรอเตียงว่าง ลดเสี่ยงคนรอบข้างอย่างไรดี

0
318
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตวันนี้มาแชร์ประสบการณ์จาก “MY COVID DIARY เมื่อสถาปนิกติดโควิด” จากมนุษย์แม่คนหนึ่งซึ่งติดเชื้อแล้ว และได้กลับบ้านแล้ว เพื่อเป็นแนวทางดูแลตัวเองตอนกักตัวระหว่างรอรักษา

 

ผู้ติดเชื้อ อย่าหยุดโทร! และชาร์จแบตให้เต็มเสมอ

เมื่อติดเชื้อแล้วอย่ารอพึ่งระบบรัฐไปซะทั้งหมด ในยามวิกฤตต้องพยายามดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด อย่ารอสายโทรกลับจากรัฐอย่างเดียว

ถ้าเตียงเต็มพยายามติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัดด้วยก็ได้ ถ้ามีประกันและพอสำรองจ่ายได้ก่อนก็โทรหาโรงพยาบาลเอกชนที่เคยมีประวัติเราเลย อย่าคิดว่าอาการน้อยแล้วเดี๋ยวก็หายเอง

ระหว่างนั้นพยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุดก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อครอบครัวและคนรอบข้าง

 

จัดการสุขอนามัยระหว่างกักตัว

  • เราใส่หน้ากากและถุงมือเสมอ เมื่อต้องออกมาจากห้องนอนที่ใช้กักตัว
  • ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนและหลังกลับเข้าห้องทุกครั้ง เพื่อป้องกันครอบครัว
  • เช็ดลูกบิดประตู,หน้าต่าง และพื้นทุกครังที่เข้าออก
  • แยกอุปกรณ์การกินแบบเด็ดขาดจากครอบครัว ของเรากินเอง ล้างเอง ไม่เอาออกจากห้องเลย

 

ให้ครอบครัวใส่หน้ากากเดินในบ้าน อย่าประมาทและแยกกักตัวชัดเจน แยกห้องน้ำ (สำคัญมาก) และจำกัดการใช้ของร่วมกันให้ได้มากที่สุด และให้ครอบครัว ล้างมือบ่อยๆ ทานสมุนไพรและวิตามินด้วยถ้าทำได้

 

ช่วงที่ผลเราเป็นบวก เราขอให้ครอบครัวกักตัวในบริเวณบ้านด้วย

ให้กำลังใจตัวเองทุกวัน ข้อนี้สำคัญมาก โควิดคือเชื้อหวัดแรงๆ ตัวหนึ่ง เราอาจจะหายเองได้ ท่องไว้ๆ ให้กำลังใจตัวเองมากๆ อย่าคิดมากและอย่าเครียดเกินไป พยายามค้นทางทางเลือกการรักษาให้ได้เร็วที่สุด

 

บรรเทาอาการต่างๆ อย่างไรหลังติดโควิด

ดูแลตามอาการที่เป็น เพราะอาการโควิด-19 ของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ต้องสังเกตอาการตัวเองทุกวัน

  1. พอคัดจมูก เราพบว่าการใช้ไอน้ำร้อนช่วย มันดีมากแนะนำขอให้หากาต้มน้ำมาอันหนึ่ง และชามหรือแก้วอย่าให้ใครใช้ด้วยเด็ดขาด ต้มน้ำเดือดเทลงผ้าขนหนูในถ้วยให้ชุ่มๆ จะใส่วิคส์ น้ำมันยูคาลิปตัส หรือ Apple Cider Vinegar ลงไปก็ได้ สูดไอน้ำทุก 2-3ชั่วโมง ช่วยบรรเทาการคัดจมูกได้ดีมาก
  2. ง่วงหรือเหนื่อยให้นอนพักไป
  3. Lemon Water ช่วงอาการออก คอจะเริ่มแห้งตลอด แนะนำเอามะนาวใส่ขวดน้ำกินได้ทั้งวัน ถ้าติดเชื้อแล้ว กินน้ำเยอะๆ วันละ 2 – 3 ลิตรไปเลยจ้า
  4. มีไข้ก็กินยาลดไข้ อย่ากินยาปฏิชีวนะเอง ถามหมอก่อนว่ากินยาอะไรได้บ้าง

 

สมุนไพรและวิตามินเสริม

  • ฟ้าทะลายโจร กินวันละ12-15 เม็ดได้เลยช่วงติดเชื้อ แต่ถ้าเริ่มรับยาต้านไวรัส ควรหยุดฟ้าทะลายโจรไม่ใช่ยารักษา COVID-19 แต่เป็น “สมุนไพร” ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 7 วัน
  • Vitamin C,D กินตามสัดส่วนข้างขวด ถ้าหามาได้งานวิจัยจากหลายประเทศพบว่า การกินวิตามินดีจะช่วยให้การฟื้นตัวทำได้ดีขึ้น
  • Zinc Tablet เพื่อนที่ติดเชื้อมาก่อนแนะนำมา บอกว่าช่วยเสริมสร้างเซลล์ตัวเองได้ดี
  • ขิง กระชาย กินในเมนูอาหารและปั่นกินกับน้ำผลไม้

กินเสริมแบบพอดีๆ และที่ไม่กระทบกับโรคประจำตัว นำมะนาว น้ำขิง และ ดื่มนำเยอะๆ ก็ช่วยได้เยอะแล้ว

 

COVID Battle is your personal journey

การรักษาของแต่ละคนอาจจะแตกต่างไป อาการมันออกไม่เหมือนกัน ไม่มีใครเดาทางออกได้ 100% ว่าคุณจะดีขึ้นในกี่วัน หรืออาการอาจจะแทรกซ้อนได้หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง มันเป็น Personal journey จริงๆ ดังนั้น เข้มแข็งไว้ค่ะ คนส่วนมากจะหายเองได้

 

อายุน้อยไม่ได้แปลว่าจะหายไวกว่าเสมอไป

ไวรัสโควิดเริ่มมีหลายสายพันธุ์ และออกอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน การรักษาคือต้องให้ตามอาการแต่ละคน ถึงอายุน้อยแต่ถ้ามีโรคประจำตัว เป็นโรคอ้วน หรือภูมิแพ้รุนแรง ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงที่จะอยู่ในกลุ่มอาการหนักได้มาก

 

โรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโควิด-19

  • ความดันโลหิตสูง
  • เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เบาหวาน
  • หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ซิสติกไฟโบรซิส
  • ตับแข็ง ตับอักเสบเรื้อรัง
  • ไตเรื้อรัง ผู้ป่วยฟอกไตและปลูกถ่ายไต
  • ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • อ้วน

 

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าร่างกายมีภูมิต้านทานมากแต่ไหน น้ำหนัก อายุ ปัจจัยต่างเหล่านี้มีผลหมด คนที่ดูแข็งแรงแต่ภูมิคุ้มกันไม่ดี แล้วเชื้อลงปอด อาการก็แย่พอๆ กับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

 

มันไม่ใช่กินยาแล้วหายเลย การรักษาโควิดต้องมีการวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล ที่อาจจะต้องปรับกันตลอด อยากหายต้องทำงานเป็นทีมกับหมอและพยาบาล การดูแลตัวเองดีๆ ช่วยได้เยอะแล้ว

 

จะเห็นว่าสุขภาพดีเป็นรากฐานของการฟื้นตัวที่ดีไม่ว่าโรคไหนก็ตาม เบสิคพื้นฐานเริ่มจากการกิน การนอน และออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับโรคร้ายต่างๆ ได้อย่างราบรื่น

สุดท้ายนี้กินอยู่เป็นอยากฝากให้ทุกคนเซฟตัวเอง และเซฟคนรอบข้างให้ห่างไกลโควิด-19 เพื่อให้เราใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น และขอส่งกำลังใจให้ผู้ป่วย ทีมแพทย์พยาบาลให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

kinyupen