“ตะเกียบ” ที่เป็นมากกว่าแค่ตะเกียบ รู้ไว้ไม่ขายหน้า

0
962
kinyupen

“ตะเกียบ” เครื่องมือประดิษฐ์ยอดเยี่ยมของมนุษย์ที่คิดค้นขึ้น แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้นมาคนแรก แต่ชนชาติแรกที่มีการใช้ตะเกียบคือ จีน ซึ่งชาวจีนเริ่มใช้ตะเกียบกันอย่างแพร่หลายในหลังยุคราชวงศ์ฮั่น (จากหลักฐานโบราณคดี ตะเกียบที่เก่าแก่ที่สุดพบตามสุสานยุคราชวงศ์ฮั่น) และยังถูกใช้อย่างแพร่หลายออกไปในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม จนได้พัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมการกินประจำชาติของประเทศเหล่านั้นไปด้วย ตะเกียบนอกจากจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการคีบจับอาหารโดยไม่ให้มือเปรอะเปื้อนหรือป้องกันการใช้มือสกปรกหยิบจับอาหารแล้วยังช่วยในหยิบของร้อนๆ ขึ้นมาอย่างเช่น การคีบเส้นก๋วยเตี่ยวหรือลูกชิ้นขึ้นมาจากน้ำซุปร้อนๆ ในชามได้

ตะเกียบในยุคเริ่มแรกทำจากไม้ไผ่ ภาษาจีนเรียกไม้ไผ่ว่า “จู้” (竹) ต่อมาผู้คนไม่ค่อยชอบเสียงคําว่า “จู้” (竹) เพราะไปพ้องเสียงของศัพท์ที่ไม่ค่อยเป็นมงคลอีกหลายตัว คนจีนจึงเปลี่ยนและใช้คำใหม่ว่า “ไคว่จื่อ” (筷子)  เคล็ดสำหรับส่งตัวเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน ญาติผู้ใหญ่จะให้เจ้าสาวพกตะเกียบติดตัวไปด้วย เพราะคำว่าตะเกียบในภาษาจีน “ไคว่จื่อ” (筷子) ประกอบด้วยคำว่า “ไคว่ (筷)” ซึ่งจะพ้องเสียงกับคำว่า “ไคว่” (快) ที่แปลว่า เร็ว ส่วนคำว่า “จื่อ (子)” แปลว่า เด็กชาย เมื่อรวมกันแล้วจึงเป็นเคล็ดหมายถึง “จะได้ลูกชายเร็วๆ นี้ / ขอให้มีทายาทสืบสกุลโดยเร็ว”

 

 

ตะเกียบยังแสดงและบ่งบอกถึงฐานะ ความมั่งคั่ง หรือ ฐานนันดรได้อีกด้วย ชาวนาชาวไร่จะใช้ตะเกียบที่ทำจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งธรรมดา พวกพ่อค้าเจ้าสัวหรือเศรษฐีจะใช้ตะเกียบที่มีการตกแต่งมากชึ้น เช่น การเลี่ยมเงินเลี่ยมทอง จนถึงระดับขุนพล เหล่าขุนนางและจักรพรรดิ ตะเกียบที่ใช้จะทำมาจากงาช้าง นอแรด หรือ หยก และอย่างที่รู้กันมาตลอดว่าในพระราชวังจีนในอดีตจะใช้ตะเกียบที่ทำจากเงินเพื่อใช้ตรวจสอบหายาพิษในอาหาร เชื่อว่าถ้ามียาพิษปะปนอยู่ในอาหาร ตะเกียบเงินจะทำปฏิกิริยาเปลี่ยนจากสีเงินเป็นสีดำ

มารยาทการใช้ตะเกียบที่พึงระวัง เช่น เวลาถือตะเกียบอย่าได้กวัดแกว่งไปหรือใช้ปลายตะเกียบชี้โน่นนี่ อย่าเอาตะเกียบปักลงในถ้วยข้าว อย่าเอาตะเกียบเคาะถ้วยชาม และที่สำคัญขณะแสดงความคารวะผู้อื่นต้องวางตะเกียบลงก่อนเสมอ

ธรรมเนียมการใช้ตะเกียบ

การถือตะเกียบที่ถูกต้อง จะต้องถือตะเกียบไว้ตรงง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ให้อีกสามนิ้วที่เหลือคอยประคองตัวตะเกียบไว้ และต้องถือให้เสมอกัน เมื่ออิ่มแล้วต้องวางตะเกียบขวางไว้กลางชามข้าวเสมอ ในทางปรัชญาตะเกียบก็คือ “หยินกับหยาง” เพราะเวลาใช้ตะเกียบ ข้างหนึ่งจะต้องคงที่ อีกข้างหนึ่งเคลื่อนไหว ตะเกียบข้างที่คงที่คือ “หยิน” ข้างที่เคลื่อนไหวคือ “หยาง”

 

 

  • ห้ามใช้ตะเกียบเสียบแทงลงในอาหาร ถือว่าเป็นการเหยียดหยามน้ำใจกัน แม้ว่าจะไม่ถนัดใช้ตะเกียบแค่ไหนก็ไม่ควรทำเป็นอันขาด
  • ห้ามปักตะเกียบไว้ในชามข้าว เพราะดูเหมือนปักธูปในกระถางไหว้คนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าตักข้าวให้คนอื่นแล้วปักตะเกียบไว้ในชามข้าวส่งให้ จะถือว่าเป็นการสาปแช่งและอีกนัยหนึ่งก็เป็นการแช่งบรรพบุรุษด้วย
  • ห้ามวางตะเกียบเปะปะ จะต้องวางให้เป็นระเบียบเสมอกันทั้งคู่ การวางตะเกียบไม่เสมอกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนจีนถือคำว่า “ชางฉางเหลียงต่วน” (三长两短) แปลว่า “สามยาวสองสั้น” เป็นสำนวนจีนที่หมายถึง ความตาย ความวิบัติฉิบหาย ดังนั้นการวางตะเกียบที่ทำเหมือนแท่งไม้สั้นๆ ยาวๆ หรือตะเกียบที่ยาวข้างสั้นข้างจึงไม่เป็นมงคล
  • ห้ามใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น เพราะถือว่าไม่สุภาพ
  • ห้าม อม ดูด หรือ เลียตะเกียบ กิริยานี้เป็นการเสียมารยาท เป็นกิริยาที่ขาดการอบรมที่ดี
  • ห้ามใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชาม เพราะมีแต่ขอทานเท่านั้นที่จะเคาะถ้วยชามเพื่อเรียกร้องความสนใจ
  • ห้ามใช้ตะเกียบวนไปมาเพื่อเลือกอาหารบนโต๊ะ โดยไม่รู้ว่าจะคีบอาหารชนิดใด ถือว่าเป็นกิริยาที่ควรหลีกเลี่ยง ควรใช้ตะเกียบคีบอาหารที่ต้องการนั้นเท่านั้น
  • ห้ามใช้ตะเกียบคุ้ยหาอาหาร การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือนขุดคุ้ยหาของในสุสานเพื่อให้ได้สมบัติที่ต้องการถือเป็นกิริยาที่น่ารังเกียจและเสื่อมเสีย
  • ห้ามใช้ตะเกียบรับของหรือส่งต่อให้อีกคน เพราะมีความเชื่อว่าเหมือนการรับส่งอัฐิคนตาย เพราะฉะนั้นควรยื่นชามให้เขาใส่อาหารแทนหรือคีบมาวางบนชามของคนที่เราต้องการตักหรือคีมอาหารให้
  • ห้ามใช้ตะเกียบลากจานที่อยู่ไกลมือเอื้อมเข้ามาใกล้ ถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาท
  • ห้ามวางตะเกียบพาดไว้บนจานหรือชาม หากทานอาหารเสร็จแล้วก็นำตะเกียบวางไว้ที่วางตะเกียบหรือด้านข้างแทน (สำหรับข้อนี้คนไทยอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติแต่สำหรับในประเทศจีนไม่ควรทำ)

 

kinyupen