ดนตรีบำบัดรักษาโรคสมองเสื่อม

0
767
kinyupen

เสียงเพลง เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรามีความรู้สึกหลายแบบ คืองานศิลปะชนิดหนึ่งที่จะสร้างความสบายใจให้กับเรา บางคนก็จารึกเรื่องราวของตัวเองลงในบทเพลง บางคนก็นำบทเพลงมาเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรสักอย่าง และเราจะเห็นได้ว่าเสียงเพลงอยู่กับเรามายาวนาน วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมานำเสนอ อีกหนึ่งทางออกของผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อม เป็นการบำบัดด้วยดนตรีช่วยกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึกและ สติปัญญา ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นที่ยอมรับในหลายๆประเทศทั่วโลก

 

กลุ่มโรคสมองเสื่อม (dementia)

เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุเกิดจากเซลล์สมองส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ด้านพุทธิปัญญา (cognitive function) เสื่อมสมรรถภาพไป ก่อนเซลล์สมองส่วนอื่นๆ ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุมีด้วยกันหลายโรคแต่ที่พบบ่อยประมาณร้อยละ 80 ของกลุ่มโรคสมองเสื่อม คือ โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อม ที่เป็นผลจากหลอดเลือดสมองซึ่งอาจพบทั้ง 2 สาเหตุในผู้ป่วยคนเดียวกันได้ อาการสำคัญของผู้ป่วยสมองเสื่อมประกอบด้วยความจำระยะสั้นลดลงพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติทางพุทธิปัญญา ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรดังเดิมได้และหลายรายพบอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

 

การรักษาโรคสมองเสื่อม

การรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อมต้องทำหลายส่วนประกอบกันไป การใช้ยาเพื่อเพิ่มระดับพุทธิปัญญาจะได้ผลเฉพาะในช่วงต้นของการดำเนินโรค แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินโรคได้ การรักษาด้วยการไม่ใช้ยาโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมจะมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาอาการชะลอการดำเนินโรคและช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

ดนตรีบำบัดช่วยกระตุ้นสมอง

ดนตรีบำบัดเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นเป้าหมายและมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งนักบำบัดจะทำงานร่วมกับบุคคลหรือกลุ่ม โดยใช้การแสดงออกทางดนตรีเพื่อกระตุ้นสมองและสร้างความสุขระหว่างการรักษา ดนตรีบำบัดยังถือเป็นวิชาชีพด้านสุขภาพซึ่งเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ โดยถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการรักษาในหลายด้าน เพื่อเพิ่มการตอบสนองทางกายภาพ อารมณ์ ระดับพุทธิปัญญา และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมของแต่ละบุคคล

หลังจากประเมินพื้นฐานและความต้องการของผู้รับการบำบัดแต่ละรายแล้ว นักดนตรีบำบัดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะให้การรักษาตามที่ระบุซึ่งรวมถึงการสร้างการร้องเพลงการเคลื่อนไหว และ/หรือการฟังเพลง ผ่านการมีส่วนร่วมทางดนตรี

วิธีดนตรีบำบัดยังเป็นช่องทางในการสื่อสารที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่พบว่าการแสดงออกด้วยคำพูดเป็นเรื่องยาก การวิจัยทางดนตรีบำบัดสนับสนุนประสิทธิผลในหลายๆ ด้าน เช่น การฟื้นฟูร่างกายโดยรวมและการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหว การเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการรักษาให้ การสนับสนุนทางอารมณ์แก่ผู้รับการบำบัดและครอบครัว ทั้งยังเป็นช่องทางในการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกของผู้รับการบำบัดอีกด้วย

 

ดนตรีบำบัดช่วยบรรเทาความเศร้า

การรักษากลุ่มโรคสมองเสื่อมด้วยดนตรีบำบัดเป็นการรักษาควบคู่กับวิธีการอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มระดับพุทธิปัญญา บรรเทาภาวะซึมเศร้าในระยะยาว และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยการรักษาด้วยดนตรีบำบัดเป็นการรักษาที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลแทรกช้อนใด ๆ ถึงอย่างนั้นก็ตามการรักษาด้วยคนตุรีบำบัดในกลุ่มโรคสมองเสื่อมยังต้องการข้อมูลการศึกษาที่เข้มข้นเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานสำหรับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน

เนื่องจากยังมีคำถามเกี่ยวกับวิธีการรักษาที่รอคำตอบอยู่ เช่น วิธีคัดเลือกประเภทของดนตรีบำบัดที่เหมาะสมกับผู้เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อมแต่ละรายมีพื้นฐานด้านดนตรีที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังมีรสนิยมด้านดนตรีไม่เหมือนกันด้วยและผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อมยังมีข้อจำกัดทางกายภาพที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ดนตรีบำบัดบางประเภทด้วย

นอกจากนี้ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาก็เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกัน ผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อมบางรายอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น และหากกิจกรรมดนตรีบำบัดนั้นไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยก็อาจก่อให้เกิดความเครียดได้ การเริ่มใช้ดนตรีบำบัดในผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อมจึงต้องยึดหลักการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ให้การบำบัดต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อมมีการแสดงออกทางอาการที่หลากหลายแตกต่างกันในแต่ละช่วงของโรค

ดนตรีบำบัดจะมุ่งเน้นบรรเทาอาการผิดปกติเหล่านั้นเป็นสำคัญ จึงจำเป็นต้องเลือกประเภทดนตรีบำบัดให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยขณะทำการบำบัด เช่น ช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการหงุดหงิดและวิตกกังวล ควรเลือกประเภทดนตรีบำบัดที่มีลักษณะนุ่มนวลและผ่อนคลาย ช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าควรเลือกดนตรีที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน

 

การรักษาด้วยดนตรีบำบัด

รูปแบบของดนตรีบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคมักจะยืดหยุ่นตามความเหมาะสมและบริบทของผู้รับการบำบัด สถานที่ อุปกรณ์หรือความเป็นไปได้ของการให้การบำบัด (resource oriented) เช่น อาจจะเป็นการฟังดนตรีที่ชอบ หรือรับฟังดนตรีนั้นระหว่างการบำบัดด้วยวิธีอื่น การร้องเพลงหรือเล่นดนตรีด้วยอุปกรณ์ที่ผู้รับการบำบัดถนัด การเต้นรำลีลาศ หรือกิจกรรมเข้าจังหวะอื่นๆ ทั้งนี้ผู้ได้รับการบำบัดต้องได้รับประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นระยะเวลาพอสมควรจึงจะพอได้ผลลัพธ์จากการบำบัดเช่น ช่วงละ 45 นาที อย่างน้อย 2 ช่วงต่อสัปดาห์

ช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการประยุกต์ใช้ดนตรีบำบัดประกอบกับการรักษาแผนปัจจุบันอื่นๆ เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนในส่วนที่ยังขาดหายของการรักษาตามมาตรฐานทั่วไป เช่น ใช้ร่วมกับการรักษาแบบมาตรฐานในผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าเพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจในการรักษาและเสริมประสิทธิภาพของการรักษา การใช้ดนตรีบำบัดช่วยเสริมพัฒนาการในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ยังรักษาอยู่ในไอซียู การใช้ดนตรีบำบัดในการบรรเทาความเจ็บปวดและคลายความกังวลให้ผู้ป่วยที่มีแผลบาดเจ็บจากไฟไหม้ การใช้ดนตรีบำบัดในการส่งเสริมการฝึกทักษะทางภาษาในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน หรือผู้ป่วยโรคทางสมองอื่น ๆ ที่มีภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร

ประเทศไทยยังไม่รู้จัก ดนตรีบำบัด กันมากนักและการให้บริการดนตรีบำบัดส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเอกชน เป็นบริการการรักษาทางเลือกเพื่อผ่อนคลายจากความเครียด กิจกรรมคนตรีบำบัดที่ให้บริการนั้นมีความหลากหลาย เช่น เปิดเพลงจังหวะเร้าใจ ขยับตัวเข้าจังหวะ ใช้ดนตรีแบบเคาะจังหวะใช้อุปกรณ์เกิดเสียงให้ผู้ป่วยได้เขย่า หรือฟังเพลงแล้วบอกถึงความรู้สึกที่ได้จากเพลง โดยทำการบำบัดครั้งละ 1 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง

สถานพยาบาลบางแห่งใช้ดนตรีบำบัดด้วยการเปิดดนตรีที่เป็นเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกเสียงสัตว์ เสียงต้นไม้ เสียงน้ำหรือเสียงฝนตก โดยจะสลับกับการเปิดเพลงธรรมะหรือบทสวดต่างๆ เบาๆ สลับกัน เพื่อให้ผู้รับบริการในสถานพยาบาลได้ผ่อนคลายและมีอารมณ์ที่ดี สุดชื่น สบาย ไม่เครียด

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตหวังว่า สิ่งนี้อาจะเป็นอีกทางออกหนึ่งของครอบครัวที่มีผู้ป่วยกลุ่มโรคสมองเสื่อม ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย แต่ก็เป็นวิธีที่ทำให้คนในครอบครัวของเรา มีภาวะสมองที่ไม่เครียด และบางคนอาจจะดึงความทรงจำดีๆ กลับเข้ามาได้เหมือนเดิม

 

ที่มา

เรื่อง : รศ. นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา

อายุรศาสตร์ หน่วยประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์

 

kinyupen