ภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน ปรับก่อนพังทั้งองค์กร

0
890
kinyupen

วัยทำงาน ต้องรับผิดชอบสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งความเครียดและความกดดัน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมงาน จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตอยากให้องค์กรต่างๆ เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน และคุณภาพการทำงานที่ดีขององค์กร

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลส่วนหนึ่ง เชื่อว่าการทำงานอาจเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าได้ การปล่อยให้ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาส่วนตัวของบุคคลนั้นๆ อาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากภาวะซึมเศร้าจะกัดกินสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลกระทบกับองค์กรได้มหาศาลหากพนักงานป่วยจนทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ

หากสาเหตุเกิดจากองค์กรเอง ควรเร่งปรับปรุงแก้ไข ก่อนมีคนที่ 2 3 4 ที่มีภาวะซึมเศร้าตามมา

สาเหตุซึมเศร้าจากการทำงาน

1. มีแนวคิดไม่ตรงกับวัฒนธรรมองค์กร แต่ต้องฝืนทำงานต่อไป

2. ได้ทำงานไม่ตรงกับความสามารถที่มี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความกดดันและความเครียด เช่น มีความสามารถด้านการประสานงาน แต่ต้องทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ เป็นต้น

3. เวิร์ค ไร้ บาลานซ์ ขาดสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ทำงานจนไม่มีเวลาให้ตัวเอง ไม่ได้ผ่อนคลาย ไม่ได้ดูแลตัวเองและดูแลความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง

4. ขาดความชัดเจนในการทำงาน ไม่รู้ว่าเจ้านายหรือบริษัทคาดหวังอะไร อาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจว่างานที่ทำอยู่มีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่

5. ได้รับผิดชอบงานที่มากเกินไป หรือได้รับมอบหมายงานมากจนต้องทำงานล่วงเวลาบ่อย จนส่งผลกับเวลาที่ควรใช้พักผ่อน

6. โดนกลั่นแกล้งจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า

7. ความไม่สบายใจส่วนบุคคล ต้องร่วมงานกับบุคคลที่มีลักษณะนิสัย ทัศนคติและการทำงานที่แตกต่างกัน

8. เป็นคนโลกส่วนตัวสูง อาจรู้สึกอึดอัดหากต้องนั่งทำงานในห้องที่พนักงานทุกคน หรือทุกแผนกอยู่ในห้องเดียวกัน

9. เป็นคนชอบเข้าสังคม อาจรู้สึกไม่สะดวกสบายเมื่อต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่พนักงานไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

10. ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เพียงพอกับความต้องการขั้นพื้นฐาน

11. อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้ว่ารู้สึกอยากออกจากงาน แต่ด้วยภาระต่าง ๆ หรือเหตุผลบางประการก็ทำให้ไม่สามารถลาออกจากงานได้

12. แผนการทำงานไม่ดี สื่อสารผิดพลาด ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด หรือทำงานเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจเป็นผลทำให้งานไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง

13. หมดกำลังใจในการทำงาน ถูกโยนความผิด จำกัดงบการขึ้นเงินเดือน หรือการให้รางวัลแก่ผู้ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

14. ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ฝ่ายจัดการละเลยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในองค์กรที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน เช่น ไม่มีวันลาพักร้อน ช่วงเวลาพักน้อยเกินไป การเพิกเฉยต่อความปลอดภัยในองค์กร ไม่ปรับอุณหภูมิในห้องทำงานจนทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัด เป็นต้น

สัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน

ภาวะซึมเศร้าไม่เหมือนโรคอื่น เพราะสังเกตยาก แต่การซึมเศร้ามีผลกับการใช้ชีวิตมาก ทั้งความสัมพันธ์ การทำงาน การกินการนอน คนทำงานควรสำรวจตนเองอยู่เสมอ และควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน

  1. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
  2. ทักษะการแก้ไขปัญหาลดลง
  3. ทำงานแบบผัดวันประกันพรุ่ง
  4. ยอมแพ้ต่อชีวิต ไม่ต่อสู้ดิ้นรน ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้น
  5. เก็บตัว ไม่เข้าสังคม
  6. เชื่องช้าลง
  7. รู้สึกผิดหวัง สะเทือนใจง่าย
  8. ไม่มีความภูมิใจหรือเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ

อาการแบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์

หากพบอาการของโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง เศร้า ไม่แจ่มใส วิตกกังวลและนอนไม่หลับ ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ

แต่หากเผชิญภาวะซึมเศร้าจนคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย คิดจะทำร้ายตนเองและผู้อื่น รวมทั้งหาทางออกให้กับปัญหาไม่ได้ ควรรีบโทรศัพท์ไปยังสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 หรือไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและจิตแพทย์ทันที

ฟื้นฟู ดูแลกายใจให้ห่างไกลภาวะซึมเศร้า

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายด้วยการเดิน การวิ่ง หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข และอาจส่งผลดีต่อผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในระยะยาว
  • นอนหลับในนระยะเวลาที่เหมาะสม
  • ฝึกเป็นคนคิดบวก ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักมีความคิดด้านลบตลอดเวลา ดังนั้น ควรปรับชีวิตให้คิดในแง่ดีเมื่อรู้สึกแย่กับตนเอง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นว่าตนไม่ดีจริงหรือ หรือมีข้อผิดพลาดตรงไหนที่แก้ไขได้ และแม้ว่าการฝึกเป็นคนคิดบวกอาจต้องใช้เวลา แต่การปรับชีวิตให้คิดแต่สิ่งที่ดีจะช่วยขจัดความคิดในแง่ลบหรือการมองโลกในแง่ร้ายออกไปได้ในที่สุด
  • สร้างกิจวัตรประจำวัน อารมณ์เครียดหรือซึมเศร้าอาจทำให้การทำงานและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแย่ลง ซึ่งการกำหนดกิจวัตรในแต่ละวันจะช่วยให้มีสติและพัฒนาอารมณ์ให้ดีขึ้นได้
  • กำหนดเป้าหมาย ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักรู้สึกท้อแท้กับชีวิตและรู้สึกแย่ต่อตัวเอง ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายเชิงบวกในแต่ละวันจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อทำตามเป้าหมายจนสำเร็จลุล่วง
  • พัฒนาความรับผิดชอบ ภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ความรับผิดชอบต่อการทำงานและภาระหน้าที่ต่าง ๆ ลดลงได้ การฝึกตนเองให้เป็นคนมีความรับผิดชอบจึงจะช่วยเสริมสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดีและอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในอนาคตได้ เนื่องจากการรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีเมื่อทำงานต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จ
  • ทำอะไรใหม่ ๆ หลายคนมักจะรู้สึกหดหู่และอ่อนไหวง่ายเมื่ออยู่ในภาวะซึมเศร้า จึงควรออกไปหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำเพื่อเปิดหูเปิดตา เช่น ไปเยี่ยมชมสถานที่ใหม่ ๆ หรือเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ เพื่อดึงความสนใจจากอารมณ์ด้านลบไม่ให้มีอาการแย่ลง
  • สร้างปฏิสัมพันธ์และออกไปพบปะผู้คน กำลังใจที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อน และครอบครัวทำให้รู้สึกดีและสบายใจขึ้น นอกจากนี้ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนยังช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้ด้วย
  • ช่วยเหลือผู้อื่น การเป็นอาสาสมัครหรือทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมอาจช่วยฟื้นฟูสภาพอารมณ์ให้กลับมาเป็นปกติได้ โดยช่วยให้เห็นคุณค่าในตนเองจากการช่วยเหลือผู้อื่น แต่หากไม่มีเวลามากพออาจช่วยเหลือผู้คนด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ช่วยเด็กข้ามถนน เอื้อเฟื้อต่อคนพิการและคนชรา ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานตามเหมาะสม เป็นต้น
  • ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างอาจเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น ควรทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เป็น โดยจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สามารถแก้ไขได้แทน
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หากเกิดปัญหาทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีความทุกข์หรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาอาการอย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ แม้มีหลักฐานว่าอาหารเสริมบางชนิดช่วยต้านภาวะซึมเศร้าได้ เช่น น้ำมันตับปลา และกรดโฟลิค แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมใด ๆ เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการทดลองที่ชัดเจนเพียงพอในด้านนี้ และด้วยความแตกต่างทางสุขภาพของแต่ละบุคคล สารบางอย่างจึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้แม้รับประทานในปริมาณปกติก็ตาม

เห็นได้ชัดว่าการลงทุนกับสุขภาพจิตของพนักงาน สำคัญไม่แพ้การลงทุนอื่นๆ เพื่อองค์กรเลย เพราะพนักงาน ไม่ใช่เครื่องจักรมนุษย์ ควรหมั่นสังเกตตัวเองเพื่อนร่วมงาน เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากภาวะเครียด และซึมเศร้าจากการทำงาน

ขอบคุณข้อมูลจาก : พบแพทย์ (pobpad.com)

kinyupen