ความตายเจ้าขา ขอข้าคืนสู่ผืนดิน

0
415
kinyupen

เมื่อเราตายร่างกายก็ต้องคืนสู่พื้นดิน คงไม่พ้นการเผาหรือฝังศพ แม้ว่าการเผาศพดูเหมือนมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการฝังศพ แต่หนึ่งในข้อเสียซึ่งกำลังเป็นที่วิตกกันทั่วโลก คือ กระบวนการเผาศพส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก จึงเกิดความนิยมใหม่ๆ ในการจัดร่างกายของผู้เสียชีวิต กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีบริการหลังความตาย ที่ได้รวบรวมมาแล้วมาเล่าสู่กันฟัง

เรืองู

คนโบราณในดินแดนอุษาคเนย์ประดิษฐ์เรือที่มีหัวมีหางเหมือนงูที่ดูเหมือนส่ายไปมาเหนือผิวน้ำ เรืองูแบบนี้เอาไว้ใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน หนึ่งในนั้นคือพิธีศพ เหตุที่ทำเลียนแบบงูก็เพราะชาวอุษาคเนย์โบราณมีความเชื่อเรื่องงูและเมืองบาดาล เขาเชื่อว่าเมื่อคนเรา “กลับบ้านเก่า” หมายถึงกลับคืนไปสู่ห้วงน้ำ จึงมีพิธีเชิญขวัญคนตาย เพราะคนตาย ตายไปแต่ร่าง ขวัญไม่ตาย

 

การเชิญขวัญคนตายกลับสู่เมืองน้ำก็ต้องให้งูมาเชิญ จึงถากท่อนไม้ยาวให้เหมือนรูปร่างงูตามจินตนาการ ขุดเป็นรางเพื่อวางศพให้เหมือนนอนอยู่ในท้องงู ใส่ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวพอให้มีใช้ในเมืองบาดาล พาลอยน้ำแล้วแบกขึ้นบกไปเก็บไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านอันปลอดจากสัตว์ป่ามาขุดคุ้ย เช่น ในถ้ำ หรือตามหน้าผาของถ้ำ ความเชื่อกว่าสามพันปีนี้ยังพอมีให้เห็นทุกวันนี้ เรียกว่าวัฒนธรรมโลงผีแมน เช่น แม่ฮ่องสอน (อ.ปางมะผ้า) กาญจนบุรี (ถ้ำหนองเสือ อุทยานแห่งชาติน้ำตกเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์) และอุบลราชธานี (สามพันโบก อ.โพธิ์ไทร) ไม้ท่อนที่ถากเหมือนงูนี้ นักโบราณคดีเรียกว่าโลงศพ แต่คนโบราณเรียกว่าเรือ (ดังนั้นเรือก็แปลว่าโลง)

 

เมื่อสำเภานำการค้าขายมาพร้อมกับวัฒนธรรมต่างเมือง การจัดการความตายก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผสมปนเปไปตามปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ แล้วก็มาถึงยุคที่การจัดการความตายออกจะมีความแพง มีการจัดการเป็นธุรกิจแบบครบวงจร คุณวิโรจน์ สุริยเสนีย์ ผู้สืบทอดธุรกิจ “สุริยาหีบศพ” เคยเล่าว่า สุริยาหีบศพมีบริการแบบ full service คือรับจัดการงานศพ เป็นที่ปรึกษาให้แก่งานศพแต่ละงานผ่าน call center เพื่อให้คำปรึกษากรณีเสียชีวิตที่บ้าน การไปติดต่อสถานีตำรวจ และเป็นสมาชิกของ Asia Funeral Expo ซึ่งเกี่ยวกับการจัดงานศพในระดับสากล เรียกแบบไทยๆ ก็คืองานสัปเหร่อโลก เพราะในต่างประเทศเขา “ล้ำ” มากในงานด้านนี้

 

ในอ้อมกอดรังไหม

พอมาถึงวันนี้ แนวคิดเรื่องการประหยัด ความเรียบง่าย การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เป็นแนวคิดที่มาแรงขึ้น มีนวัตกรรมที่เหมาะกับสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยนไปเพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น อย่างเช่น Living Cocoons โลงศพที่พัฒนาโดยใส่เชื้อเห็ดเพื่อช่วยย่อยร่างให้สลายเร็วกว่าเดิม ไม่ต้องเปลืองพลังงานในการเผา ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการฝัง โปรดักส์แบบอีโคนี้เป็นของ Loop for Live ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นงานสร้างสรรค์ของบ๊อบ เฮนดริกซ์ (Bob Hendrikx) นักออกแบบที่ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเดลท์และศูนย์ Naturalis Biodiversity Center

 

ภาพจาก loop-of-life.com

 

ในกระบวนย่อยของศพคนเรา จะมีสารพิษตกค้างอยู่ในดินที่กลายเป็นมลภาวะไม่น้อย แต่เราไม่ค่อยมองเห็นมุมนี้ สารพิษและสิ่งที่ไม่ย่อยสลายตกค้างอยู่นานนับสิบปี Minnesota Pollution Control Agency องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาซึ่งเก็บข้อมูลเรื่องนี้ พบว่า ปีหนึ่งๆ มีแผ่นไม้เนื้อแข็งที่ใช้ทำโลงประมาณ 30 ล้านชิ้น คอนกรีต 1,600,000 ตัน เหล็ก 14,000 ตัน น้ำยาที่ใช้ดองศพโดยเฉพาะฟอร์มัลดีไฮด์ 827,060 แกลลอน ทองแดงและทองเหลือง 2700 ตัน

 

พบขจัดปัญหามลภาวะ ค่าใช้จ่าย และลดการทำร้ายสิ่งแวดล้อม Living Cocoons ก็ช่วยทำให้การตายคืนกลับสู่ธรรมชาติจริงๆ โลงที่เสมือนอ้อมกอดรังไหมนี้บรรจุเชื้อราที่เรียกว่า mycelium ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในเห็ด ไมซีเลียมจะย่อยอินทรียวัตถุให้กลายเป็นธาตุอาหารแก่ดิน เช่นเดียวกับการย่อยเศษพืชซากสัตว์ต่างๆ ในป่า และยังช่วยดูดซับสารพิษต่างๆ ก่อนที่จะซึมลงในดินหรือแหล่งน้ำ สปีดการย่อยของไมซีเลียมช่วยทำให้ “ร่าง” สลายเร็วภายใน 2-3 ปี จากปกติที่ใช้เวลาถึง 10 ปี ขอเพียงมีสถานที่เหมาะๆ ในการวางโลงรังไหมนี้เท่านั้น สนใจก็ออร์เดอร์ทางออนไลน์ได้เลย

 

แคปซูลมันดิ (Capsula Mundi)

สสารกับพลังงาน เป็นเรื่องเดียวกัน และเราต่างรู้กันว่า สสารกับพลังงานไม่สูญหาย มันแค่เปลี่ยนสภาพ ร่างที่จากไป (สสาร) สามารถแปรเปลี่ยนเป็นสสารใหม่ได้ ที่ง่ายที่สุด (และดีที่สุด) ในเวลานี้คือ เปลี่ยนเป็นต้นไม้

 

ภาพจาก http://www.wickedgadgetry.com/

 

เป็นเรื่องปกติในการฝังสัตว์เลี้ยงที่รักไว้ใต้ต้นไม้สักต้น ภายใน 1-2 ปี เราจะพบว่าต้นไม้ต้นนั้นเติบโตดี ผลิดอกสะพรั่งผิดต้นข้างเคียง แต่นวัตกรรมที่เพิ่งหลุดออกใหม่นี้ล้ำไปอีกก้าว ทำให้เราเลือกได้ว่าจะให้คนที่จากไป เกิดเป็นต้นไม้อะไรที่เราชอบก็ได้ คือเอาร่างของคนนั้นเข้าไปขดอยู่แคปซูลพลาสติกรูปร่างเหมือนฟองไข่ พลาสติกนี้เป็นพวก biodegradable คือย่อยสลายได้ เพราะภายในแคปซูลมีอินทรีย์ เมื่อฝังแคปซูลลงดิน กระบวนการย่อยจะเริ่มขึ้นเป็นอาหารให้ต้นไม้และลูกไม้ที่เราเลือกปลูก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิธีนี้จะช่วยมอบสิ่งมีค่าให้แก่ดินมากเพียงใด และยังใช้เวลาเปลี่ยนสภาพเร็วกว่าการฝังแบบปกติ ทว่านี่ก็ยังเป็น product concept ยังไม่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย แต่หลายคนก็เชื่อว่าเราน่าจะได้ใช้กันในศตวรรษที่ 21 นี้ล่ะ

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

kinyupen