วัคซีนโควิด-19 ฉีดเลยดีไหม..ในวันที่ไม่มีทางเลือก

0
400
kinyupen

จะฉีดวัคซีนเลย หรือจะรอวัคซีนของเอกชนดี? เรามักได้เห็นข่าวบ่อยๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ลิ่มเลือดบ้าง อัมพาตบ้าง หมดสติ ถึงแก่ชีวิต ทำให้หลายคนพากันกลัววัคซีนโควิด-19 รู้สึกเหมือนจะโดนเอายาพิษฉีดเข้าร่างกายก็ไม่ปาน

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาทุกคนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้าวัคซีนโควิด-19 ทั้งหลายจาก พิพัฒน์ ละเอียดอ่อน หรือ Khunphiphat เจ้าของผลงาน 100+ Podcast เผื่อจะคลายความวิตกไปได้บ้าง

 

 

วัคซีนโควิด-19 ที่มีการฉีดในประเทศไทยมากที่สุดในขณะนี้คือ Sinovac ซึ่งทำมาจากเชื้อตาย และมีประสิทธิภาพอยู่ท้ายๆ ฟังเผินๆ ดูไม่น่าไว้ใจ แต่ก็มีผู้คนออกมาสนับสนุนว่าวัคซีนชนิดนี้ปลอดภัย เช่น ชมพู่-อารยา หมอแล็บแพนด้า และบุคลากรทางการแพทย์ท่านอื่นๆ

 

วัคซีนเชื้อตาย ไว้ใจได้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีเก่าแก่?

ทำความเข้าใจกันก่อนว่าวัคซีนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร..

หลายร้อยปีที่ผ่านมา วัคซีนแรกเกิดในช่วงไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ระบาด คร่าชีวิตผู้คนในสมัยก่อนอย่างมาก ซึ่งใช้วิธีป้องกันของชาวแอฟริกาคือ เจาะเอาหนองที่เป็นสารพิษของไข้ทรพิษ ไปใส่บทรอยกรีดบนผิวหนังของคนมีสุขภาพดี (เอาเชื้อโรคไปใส่เลย พูดง่ายๆ) กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและสามารถจดจำได้ว่าเป็นสารก่อโรค ในภายหลังเราเรียกว่าการ “ปลูกฝี”

 

 

และตั้งแต่ปี ค.ศ.1776 เป็นต้นมา ก็ได้พัฒนามาเป็นวัคซีน ซึ่งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพกว่าการปลูกฝีมาก วัคซีนในระยะเริ่มแรกเป็นการนำเชื้อมาทำให้ตายหรือการใช้เชื้อที่อ่อนฤทธิ์เท่านั้น จนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาช่วย

 

 

กลับมาที่วัคซีน Sinovac นักวิทยาศาสตร์ก็จะเพาะเชื้อไวรัสตัวนี้ขึ้นมาแล้วก็ฆ่ามันให้หมดเชื้อมันตาย เชื้อตัวนี้ก็จะสิ้นฤทธิ์ แต่จะยังมีหนามโปรตีน มีตัวรหัสของไวรัสอยู่ ก็เอาซากฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเข้าไปซ้อม เข้าไปตรวจจับ เข้าไปเจอเชื้อไวรัสตัวนี้ แล้วก็สร้างรหัสในการป้องกันตัวขึ้นมา

 

ปกติการผลิตวัคซีนไม่ว่าจะแก้โรคอะไรก็แล้วแต่ ต้องใช้เวลาพัฒนาประมาณ 10 ปี จึงจะได้วัคซีนที่ “ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” เพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น โรคแทรกซ้อน การดื้อยา การเร่งให้เกิดเซลล์มะเร็ง ฯลฯ แต่เนื่องจากเป็นภัยพิบัติฉุกเฉิน ทำให้วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวต้องเร่งพัฒนา ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีด้วยซ้ำ

 

แต่ด้วย Sinovac ใช้วิธีที่แบบเก่านี้เอง จึงมีความคุ้นเคยในประสิทธิภาพและความปลอดภัยมานาน มี Report อัตราความเสี่ยงจากข้อมูลเก่าๆ และคาดการณ์ผลข้างเคียงได้ดีกว่า แม้ต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า แต่ลดอัตราการเสียชีวิตได้ 100% เหมือนกัน

 

เมื่อก่อนไม่เห็นต้องเลือกวัคซีนเลย แต่ทำไมตอนนี้ต้องเลือก?

เพราะวัคซีนแต่ละแบรนด์เทคโนโลยีที่ใช้ผลิตต่างกัน

  1. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) นําไวรัสโควิด-19 มาเลี้ยงขยายจำนวนมาก ทำให้เชื้อตาย (Sinovac)
  2. วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) สร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส ด้วยระบบ cell culture, yeast, baculovirus เป็นต้น ผสมกับสารกระตุ้นภูมิ แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกาย (Novavax)
  3. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) เอาส่วนที่เป็นรหัสหนามเข้าไปฝากไว้กับไวรัสชนิดอื่น แล้วก็ฉีดเข้าไปเพื่อให้ร่างกายรู้จัก (Astra Zeneca, johnson and Johnson)
  4. mRNA (Message RNA) ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่มีเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถอดรหัสของยีนมาเลย แล้วก็ทำการสังเคราะห์โปรตีนต่างๆ และฉีดเจ้าตัวรหัสพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้ เข้าไปให้เซลล์ของเรารู้จัก มีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูง (Pfizer และ Moderna)

 

วัคซีนไฟเซอร์ดีที่สุด?

ยังไม่มีใครรู้ผลข้างเคียงในระยะยาว แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ได้รับการวิชัยสรุปออกมาว่ามีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ก็เก็บข้อมูลของตัวเอง ต่างสถานที่ ต่างเวลา ในระยะของการระบาดที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นการเปรียบเทียบโดยมองจากตัวเลขคงทำได้ยาก แต่การฉีดวัคซีนที่มากขึ้นทั่วโลกก็จะมีภาพสะท้อนออกมาให้ชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีวัคซีนยี่ห้อไหนที่จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ 100% แต่ที่ทุกยี่ห้อเป็นเหมือนกัน คือ ไม่ให้ไวรัสเล่นงานเราหนัก ลดความเสี่ยงป่วยหนักจนต้องเข้า ICU ลดอัตราการเสียชีวิต

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือร่างกายที่ดี สุขภาพแข็งแรง ซึ่งช่วยในการตอบสนองต่อวัคซีนที่เข้ามาได้ดี ดังนั้นเราก็ต้องดูแลตัวเองเป็นพื้นฐานหลักด้วย ไม่ได้หมายความว่าทำตัวอ่อนแอแล้วหวังว่าหมอจะมาช่วยชีวิตเราได้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระของหมอและบุคลากรทางการแพทย์ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างสหรัฐอเมริกา ภูมิคุ้มกันหมู่คือการที่ประชากรฉีดวัคซีนแล้วกว่า 60% เพื่อให้มีระบบภูมิคุ้มกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับไปเป็นปกติ จบวิกฤตนี้อย่างเร็วที่สุด

 

ขอขอบคุณที่มาจาก

  • WHO องค์การอนามัยโลก
  • CDC – Centers for Disease Control
  • Coronavirus explained
  • BMJ
  • Medrxiv
  • National Geographic
kinyupen