ขยันเพื่ออะไร? เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นทาสงาน สู่วิกฤตความมั่นคงของชาติ

0
614
kinyupen

หากเป็นเมื่อก่อน ทัศนคติ “ขยันแล้วจะเจริญ” คือคำยอดฮิต แต่ยุคปัจจุบันกลับมีแต่คำถามว่า “ทำงานหนักไปเพื่ออะไร?”

คนรุ่นเก่าเชื่อในความขยันและการทำงานหนัก แล้วชีวิตจะสบาย ในขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังมองหาวิธีทำงานให้น้อยที่สุด หรือเลิกขายวิญญาณให้งาน

 

เกิดอะไรขึ้นกับคนรุ่นใหม่?

มันผิดที่คนสมัยนี้ไม่สู้งานเอง เรื่องของผลตอบแทน หรือเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ?

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะชวนคุณมาหาคำตอบนี้กัน

 

 

จาก Burnout สู่ The Great Resignation และล่าสุดเกิด ‘Lying Flat’

  • Burnout คือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน รู้สึกหมดแรง หมดใจ และไม่มีอารมณ์ทำงาน
  • The Great Resignation คือ การลาออกครั้งใหญ่ คนจะลาออกจากงานกันมหาศาลเพื่อไปหางานใหม่ เมื่อโควิดซา เศรษฐกิจเริ่มฟื้น (แม้จะยังมีการระบาดต่อไปก็ตาม)
  • Lying Flat คือ ภาวะของการอยู่นิ่งๆ ไม่ขวนขวาย ไม่อยากได้อยากมี และทำทุกอย่างเพื่อให้พ้นๆ ไปเท่านั้น (สำนวนไทยอาจจะเรียกว่า ‘นอนทอดหุ่ย’)

 

 

Lying flat หรือ การใช้ชีวิตแบบนอนราบ

กลายมาเป็นเทรนด์ในการต่อต้านการทำงานหนักจนเกินไป และ เป็นเทรนด์ที่โด่งดังมากท่ามกลางคนรุ่นใหม่ในจีน

หากคนรุ่นเก่าเชื่อว่าหนทางสู่ความสำเร็จในชีวิตคือการทำงานหนัก แต่งงาน และมีครอบครัว

พวกเขาขอเลือกที่จะทำตรงข้าม!

 

 

มากกว่าการนอนเฉยๆ

เพราะหลายคนมีความสุขกับการ ‘ไม่ทำอะไรเลย’ มีสิทธิ์ที่จะเลือกชีวิตที่ไม่เร่งรีบ ชีวิตที่ได้อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ทำอะไรที่อยากทำ

รวมถึงการไม่แต่งงาน ไม่มีลูก ไม่ซื้อบ้าน ไม่ซื้อรถ ไม่ทำงานเกินเวลา หรือไม่ทำงานประจำเลย

 

 

สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ดูไม่สู้งาน/ท้อง่าย

1.รายได้ไม่คุ้มค่ากับชีวิตที่เสียไป

ค่าครองชีพที่แพงขึ้น ชีวิตในเมืองที่แพงขึ้นทุกวันๆ ช่างสวนทางกับรายได้ ทั้งที่ต้องเจอกับงานหนัก ค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรม งานหนักที่ไม่คุ้มแลกกับปัญหาสุขภาพ เวลาก็ไม่มีให้ไปทำอย่างอื่น นี่มันความฝันอันแหลกสลายของชนชั้นกลางชัดๆ

 

เมื่อคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีอย่างที่ควร ทำให้คนเราต้องมองหาวิธีไม่เป็นทาสงาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนรุ่นใหม่นิยมทำงานที่บ้านมากขึ้น รู้จักลงทุนเพื่อให้เงินทำงาน และโหยหา Passive income อยู่เสมอ

 

 

2. โควิดทำให้โลกการทำงานและความคิดคนเปลี่ยนไป

ผลจากการ Work from home มีหลากหลาย เช่น

  • ค้นพบตัวเองมากขึ้น ในเมื่อรับรู้ว่างานทำที่ไหนก็ได้ ทำให้เห็นว่าตัวเองชอบอะไร และการอยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัวก็ดีเหมือนกัน บางคนออกจากงานประจำ แล้วทำงานฟรีแลนซ์ไปเลย
  • พนักงานอยากทำงานแบบยืดหยุ่นต่อไป แม้สถานการณ์การระบาดจะเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม
  • ถ้ายังไงก็ไม่ก้าวหน้า ก็ลาออกไปเลยสิคะ ผู้คนกังวลมากขึ้นว่าจะไม่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน บางคนถูกลดบทบาทลง ในเมื่อไปต่อไม่ไหว การลาออกเท่านั้นที่เป็นคำตอบ (ในที่นี้อาจลาออกไปที่อื่น หรือลาออกไปอยู่เฉยๆ ก็ได้)

 

3.ความกดดันในชีวิต

ความเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ต้องแข่งขันทุกวัน ไม่รู้จะรีบไปไหน ไม่มีเวลาใช้ชีวิต วันหยุดก็ต้องแย่งกันกิน แย่งกันเที่ยว

และคนรุ่นใหม่ก็รักชีวิตอิสระมาก พวกเขาอาจคาดหวังไลฟ์สไตล์การทำงานที่อิสระ มีเวลาให้ได้ใช้ชีวิตมากกว่าการคาดหวังเรื่องรายได้เสียอีก

 

 

จะมีคนจำพวกหนึ่งที่ไม่ปรารถนาจะเป็นหัวหน้า เพราะไม่อยากรับผิดชอบอะไรมากมายให้ชีวิตเครียด

ยอมทำงานน้อยๆ กับเงินเดือนน้อยๆ ออกจากงานมาเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานผ่านเน็ต หรือรับจ้างไปวันๆ เสียดีกว่าที่จะแบกรับความกดดันเสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต

 

ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่ทำงาน ไม่กระตือรือร้น จะส่งผลอย่างไร

    • ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน
    • เกิดสังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าเดิม เพราะคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เบื่อที่จะสร้างอนาคต
    • การเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง นักลงทุนจะปิดกิจการ ย้ายไปลงทุนที่ประเทศอื่นแทน
    • ไม่มีผลผลิต ไม่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พังทั้งระบบ

 

แม้การทำตัวเช้าชามเย็นชาม นั่งชิล หรือประท้วงสังคมด้วยการลาออกมานอนจะเป็นเรื่องที่สุดโต่ง ส่งผลเสียต่อผลิตภาพของโลก

แต่กินอยู่เป็นเชื่อว่าทุกคนต้องมีเสี้ยวความคิดหนึ่งแหละ ว่า “ไม่อยากทำงาน อยากนอนเฉยๆ” เพราะโลกของวัยทำงานก็ไม่ได้ง่าย

 

ใครที่เหนื่อยแล้ว อยากพัก ขอให้พึงระลึกเสมอว่าเราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามใคร เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าให้หยุดวิ่งไปเลยเสมอไป ลองวิ่งให้ช้าลง เดินช้าๆ

 

อ่านทางแก้ชีวิตหมดไฟ ที่ ชีวิตหมดไฟ…โรคใหม่ยุค New Normal

 

 

กินอยู่เป็นขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

kinyupen