“กองทุนคู่” ฮาวทูเปิดบัญชีร่วมฉบับคู่รักนักลงทุน

0
907
kinyupen

ออมเงินร่วมกัน ไม่ใช่แค่ความโรแมนติก อวดของแบบคนมีคู่ รองเท้าคู่ เสื้อคู่ แต่เป็นการสร้างอนาคตร่วมกัน สานฝันตามเป้าหมายของทั้งคู่ เปิดบัญชีคู่จึงเป็นการวางแผนชีวิตคู่ในอนาคตรูปแบบหนึ่ง เพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของร่วมกัน รับรู้ร่วมกันอย่างยุติธรรมแต่คู่รักที่อยากสร้างอนาคตในยุคเงินฝากดอกเบี้ยต่ำ เงินฝากประจำอาจไม่ใช้ทางออก ในขณะที่เงินเฟ้อขึ้นปีละ 2-3% แต่เงินฝากประจำดันอยู่ที่ 1.5% เท่านั้นเอง บัญชีออมทรัพย์แบบทั่วไปยิ่งแล้วใหญ่ เหลือแค่ 0.5% จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้หากการลงทุนน่าสนใจมากกว่า

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีการเปิดบัญชีคู่ที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นรูปแบบการลงทุน ก็คือการเปิดบัญชี ‘กองทุนคู่’ นั่นเอง พร้อมแชร์ทริกการเลือกกองทุนรวมมาฝากทุกคน

 

 

“กองทุนรวม” เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่ไม่เสี่ยงเกินไปสำหรับมือใหม่ ไม่ผันผวนหนักเท่ากับหุ้น หรือ คริปโตเคอเรนซี่ เปิดเช็คพอร์ตกองทุนรวมทุกครึ่งปีก็ยังได้

 

แล้วเจ้า “กองทุนรวม” ก็สามารถซื้อเป็นกองทุนคู่รักได้ด้วย ลักษณะก็คล้ายๆ การฝากเงินบัญชีคู่ ผสมกับเปิดบัญชีกองทุนคนเดียวแบบปกติ ก็ซื้อได้ทุกกองทุนเหมือนเดิม แต่การตัดสินใจทำธุรกรรม ต้องอาศัยการคิดและตัดสินใจจาก ‘ทั้งคู่’ เพราะชื่อของแฟนเราก็จะอยู่บนปกบัญชี จึงมีสิทธิในการบริหารจัดการเงินในบัญชีร่วมกันกับเราด้วย

 

ทั้งนี้ หากต้องการจะขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เปิดคู่กันไว้ จะต้องมีลายเซ็นของทั้ง 2 คนในใบขายคืนหน่วยลงทุนเสมอ เว้นแต่กรณีที่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปขายหน่วยลงทุนเพียงคนเดียว จะต้องมีการมอบอำนาจให้อีกฝ่ายได้เช่นกัน

 

สำหรับธุรกรรมออนไลน์ การส่งคำสั่งซื้อ-ขาย กองทุนจะเป็นใครก็ได้ ขึ้นอยู่กับใครมี password ในการส่งคำสั่งซื้อ-ขาย กองทุน (เมื่อขายแล้วเงินที่ได้มาจะลงไปอยู่ในบัญชีคู่ฝาก จึงจำเป็นต้องบังคับเปิดบัญชีคู่ฝากก่อนเปิดกองทุนคู่เสมอ) แต่หากอยากถอนเงินออกจากบัญชีคู่ฝากก็ต้องมีลายเซ็นทั้งคู่เหมือนเดิม

 

ข้อควรรู้ และข้อควรระวัง

1.จำนวนเงินขั้นต่ำ

เงื่อนไขของการฝากเปิดบัญชีกองทุนคู่ คือมีการกำหนดจำนวนเงินซื้อขายขั้นต่ำ ซึ่งมีตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุน)

 

2.เงื่อนไขการเปิดบัญชีกองทุนรวม

‘เงื่อนไขการเปิดบัญชีกองทุนรวม’ แต่ละประเภทอาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันออกไปตามข้อกำหนดของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เช่น กองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) จะไม่สามารถเปิดบัญชีร่วมกันได้ กองทุนตราสารหนี้บางตัวต้องถือให้ครบ 2 ปี

 

3.ระวังขาดทุน

กองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน แต่เป็นการลงทุน ขึ้นชื่อว่าลงทุนก็ต้องมีความเสี่ยง มีโอกาสขาดทุนหรือสูญเงินต้น ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของประเภทกองทุน สภาวะตลาด และลักษณะการลงทุน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ทริกวางแผนการเงินกับกองทุนคู่

1.วางเป้าหมายในการเก็บเงินก่อน

สุดท้ายแล้วคุณทั้งคู่ต้องการเงินก้อนนี้ไว้ทำอะไร เช่น แต่งงาน เป็นเงินกองกลางสำหรับฉุกเฉิน ดาวน์บ้าน เงินอนาคตลูก หรือไปจนถึงเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณของทั้งคู่ในระยะยาว

เป้าหมายการใช้เงินในระยะเวลาต่างๆ จะสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการลงทุนด้วย ซึ่งนำไปสู่แนวทางการเลือกชนิดของกองทุนในข้อ 2 และ 3

หากคุณไม่มีเป้าหมายเลย คิดแค่ว่าสะสมให้มากที่สุด การสะสมเงินจะเคว้งคว้าง และจะไม่มีแนวทางชัดเจนในการจัดการกับความผันผวน นำไปสู่การปล่อยให้อารมณ์นำเหตุผล อยากซื้อก็ซื้อ อยากขายก็ขาย เพราะขาดแผนที่ดี

 

2.ยิ่งต้องการใช้เงินเร็ว ยิ่งต้องเลือกกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ

ยิ่งความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนที่จะได้รับยิ่งไม่คงที่ กราฟโดยรวมของการลงทุนมักจะเป็นขาขึ้น แต่หากซอยกราฟเล็กๆ จะเห็นการขึ้น-ลง หากเลือกความเสี่ยงสูงมันส์เลยทีนี้ ขึ้นลงเป็นรถไฟเหาะ ขืนขายกองทุนคืนช่วงนี้ จะไม่เหลือกำไรเอา แต่ถ้าระยะยาวล่ะก็ ได้แน่ๆ

ดังนั้นหากเวลาร้อนเงินมาถึงเร็ว ต้องเลือกกองทุนที่กราฟเรียบๆ ไว้ก่อน ความเสี่ยงน้อยๆ เช่น กองทุนตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนระยะสั้น แต่ถ้าไม่ทราบจริงๆ ลองปรึกษาผู้จัดการกองทุนดีที่สุดค่ะ ปรึกษาได้ที่ธนาคารในเวลาทำการได้เลย

ตัวอย่าง

  • เก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองเผื่อเหตุไม่คาดฝัน (ระยะไม่แน่นอน แต่เงินต้นห้ามขาด) = เลือกความเสี่ยงต่ำ เช่นกองทุนรวมตลาดเงิน
  • เก็บเป็นเงินกองกลางไว้ใช้จ่ายในครอบครัว (ระยะสั้นมาก) = เลือกความเสี่ยงต่ำ เช่นกองทุนรวมตลาดเงิน
  • เก็บเงินไว้ดาวน์บ้าน หรือแต่งงาน (ระยะสั้น) = เลือกความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้
  • เก็บเงินไว้ส่งลูกที่ยังเล็ก ไว้เรียนมหาลัย (ระยะยาว) = เลือกความสูงขึ้น เช่น กองทุนรวมดัชนี
  • เก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณของทั้งคู่ (ระยะยาวมาก) = เลือกความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น กองทุนรวมหุ้น

 

การตกลงร่วมกัน ในกรณีเลิกรา

แม้รักกันมากแค่ไหน เพิ่งปลูกต้นรักใหม่ๆ หรือคบกันมาหลายสิบปี ก็ต้องคิดเผื่อเล็กๆ ให้รอบคอบเผื่อวันที่เลิกรา ต้องหย่ากัน หรือมีเหตุให้แยกกันอยู่ถาวร บัญชีที่เปิดร่วมกันไว้จะทำอย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงของแต่ละฝ่าย กินอยู่เป็นเพียงเสนอแนวทางเท่านั้น

ตัวอย่าง

  • แบ่งเงินบัญชีคนละครึ่งได้เลย หากทั้งคู่ใส่เงินในบัญชีคนละเท่าๆ กันสม่ำเสมอ
  • แบ่งเงินเป็นสัดส่วน หากทั้งคู่ต่างฝากเงินไม่เท่ากัน
  • ตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้น ว่าหากฝ่ายใดเกิดนอกใจ จะโดนริบเงินทั้งหมดเป็นของอีกฝ่ายทันที ถือเป็นค่าปรับ

 

บางครั้งอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอม หรือเกิดการโกงถอนไปหมดบัญชีเองคนเดียวเลยก็มี ทั้งคู่ต้องมั่นใจก่อนว่าจะสามารถจัดการเงินก้อนนี้ได้อย่างลงตัว ไม่ต้องถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะการเปิดบัญชีคู่ ไม่ใช่หลักประกันความสัมพันธ์ เรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร

อย่างไรก็ตาม การเปิดบัญชีกองทุนร่วมไม่ใช่วิธีที่เหมาะกับทุกคู่ หากคิดว่าไม่ตอบโจทย์ ไม่เหมาะกับเรา ก็ยังมีวิธีเก็บเงินอื่นๆ อีกมากมาย ที่สามารถวางแผนอนาคตร่วมกันได้อยู่ค่ะ

 

ที่มา

กรุงเทพธุรกิจ

Prosoft ERP

kinyupen